วิดีโอทั้งหมด

วัดชิออนอิน

วัดชิออนอิน ศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายโจโด ซึ่งเป็นนิกายที่มีชาวญี่ปุ่นนับถือมากที่สุด วัดแห่งนี้ยังสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระภิกษุโฮเน็น ผู้ก่อตั้งนิกายโจโดอีกด้วย วัดชิออนอินสร้างขึ้นปี ค.ศ. 1234 โดยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดล้วนสร้างขึ้นให้มีความใหญ่โตเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังความศรัทธาในนิกายโจโดของชาวญี่ปุ่น ทั้งประตูซานมอน (Sanmon Gate) ประตูทางเข้าวัดที่มีความสูง 24 เมตร กว้าง 50 เมตร สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1619 และถือเป็นประตูซานมอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุคนั้น รวมถึงระฆังยักษ์ (Temple Bell) ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1633 มีน้ำหนัก 74 ตัน และต้องใช้คนถึง 25 คนเพื่อตีระฆังนี้ให้ดัง

ป่าไผ่อาราชิยาม่า

ป่าไผ่อาราชิยาม่า คือ จุดท่องเที่ยวทีมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ด้วยบรรยากาศอันสงบร่มรื่น และความงามอันเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งต้นไผ่ยังเป็นพรรณไม้ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานควบคู่กับประเทศญี่ปุ่นมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของความคงทน และประโยชน์ในการใช้งานอันหลากหลาย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละเมืองจึงมีการปลูกป่าไผ่เอาไว้ตามจุดต่างๆเพื่อนำมาใช้งาน โดยในเกียวโตนั้นมีป่าไผ่ใหญ่ๆทั้งหมด 4 แห่ง คือป่าไผ่ ในเมืองอาราชิยาม่า ติดกับวัดเท็นริวจิ (Tenryu-ji Temple) ป่าไผ่ในวัดโคโตะอิน (Koto-in Temple) ป่าไผ่ในวัดโคไดจิ (Kodai-ji Temple) และป่าไผ่ในวัดโชเดนจิ (Shoden-ji Temple) หากสังเกตดูจะพบว่าป่าไผ่ในญี่ปุ่นนั้นมักปลูกอยู่ภายในหรือใกล้กับบริเวณวัดเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลนั้นมาจากความเชื่อและสัญลักษณ์ของต้นไผ่ที่เป็นตัวแทนของความดี ความงาม และความเป็นสิริมงคล

"ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ" สถานประทับแห่งเทพเจ้า ผู้อุดมทางเกษตรกรรม

ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าอินาริ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการทำกสิกรรม และชาวญี่ปุ่นยังนับถือเทพอินาริในด้านการอุปถัมภ์ค้ำชู ส่งเสริมความเจริญในการงาน และการประกอบกิจการต่างๆมานับตั้งแต่ในสมัยโบราณ จึงเป็นที่มาของการบริจาคเงินจากห้างร้านหรือบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างเสาโทริอิจำนวนหลายพันต้น เรียงรายขึ้นไปสู่ยอดเขา อันเป็นที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าและจะนำพาความสิริมงคลมาให้ นอกจากเสาโทริอิของศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริแล้ว สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือ สุนัขจิ้งจอก ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั้งจากรูปปั้นบริเวณทางเข้าศาลเจ้า การประดับตกแต่งต่างๆ รวมไปถึงเครื่องรางที่จำหน่ายภายในศาลเจ้า และของที่ระลึกต่างๆจากร้านขายของในบริเวณนั้นซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรูปสุนัขจิ้งจอก ซึ่งทั้งหมดนี้มีที่มาจากความเชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกนั้นเป็นผู้นำสาร ซึ่งนำคำขอพรจากมนุษย์ไปถึงเทพเจ้าอินาริ และยังมีตำนานหลายตำนานที่เล่ากันว่าเทพเจ้าอินารินั้นมักจะปรากฏตัวในรูปของสุนัขจิ้งจอกบ่อยครั้ง

วัดเซ็นโซจิ (วัดอาซากุสะ) ศาสนสถานแห่งศรัทธา

วัดเซ็นโซจิ (วัดอาซากุสะ) ศาสนสถานแห่งศรัทธา วัดที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในกรุงโตเกียว อายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่ในย่านอาซากุสะ ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์คันนน หรือเจ้าแม่กวนอิม และเป็นที่ตั้งของเจ้าอาซากุสะอันขึ้นชื่อ จุดสำคัญของวัดประกอบไปด้วยประตูสายฟ้า ซึ่งมีโคมแดงขนาดใหญ่เขียนตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่าสายฟ้า ตามด้วยถนนนากามิเสะซึ่งเต็มไปด้วยร้านรวงขายอาหาร ขนม และสินค้าที่ระลึกต่างๆตลอดสองข้างทาง และประตูโฮโซมง ซึ่งเป็นประตูขั้นสุดท้ายก่อนที่จะก้าวเข้าไปสู่บริเวณตัวอาคารหลักของวัดเซ็นโซจิ ถือเป็นวัดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกรุงโตเกียว ทั้งจากบรรดาชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวที่ต่างหลั่งไหลมาเยี่ยมชมและสัมผัสความศักดิ์สิทธิ์ของวัดตลอดทั้งปี

วัดคินคะคุจิ (วัดทอง) จุดศูนย์กลางเมืองมรดกโลก วิหารทองแห่งเซน

วัดคินคะคุจิ หรือวัดทอง เป็นวัดที่เปรียบเสมือนแลนด์มาร์คของเมืองเกียวโต ด้วยตัวอาคารหลักที่มีสีทองอร่ามโดดเด่นตลอดทั้งปี ในอดีตเป็นคฤหาสน์ของโชกุนอาชิคางะ โยชิมิทสึ ซึ่งมีความประสงค์ในบั้นปลายชีวิตว่า อยากอุทิศพื้นที่คฤหาสน์ของตนให้เป็นวัดในนิกายเซน ครั้นเมื่อโชกุนอาชิคางะได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1408 บุตรชายของเขาจึงได้สานต่อเจตนารมณ์นี้ โดยตั้งวัดในนิกายเซนขึ้นมาในชื่อว่า “วัดคินคะคุจิ” และความสวยงามของวัดแห่งนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้หลานชายของโชกุนอาชิคางะ สร้าง ”วัดเงิน” หรือวัดกินคาคุจิขึ้นมาคู่กัน ความงดงามของวัดคินคะคุจิยังได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก 1 ใน 17 สถานที่ในเกียวโตจากองค์กรยูเนสโกอีกด้วย

หอสักการะฟ้าเทียนถาน

หอสักการะฟ้าเทียนถาน หรือที่ในปัจจุบันมีฐานะเป็น สวนสาธารณะเทียนถาน เป็นสถานที่ประกอบพิธีบวงสรวงต่อสวรรค์ตามคติความเชื่อของจีนโบราณ โดยก่อสร้างเป็นอาคารไม้หรือที่เรียกกันว่าตำหนักหลังใหญ่สูงสามชั้น บนฐานหินหยกขาว และมีตำหนักรวมถึงบริเวณรายล้อมรวมเป็นพื้นที่กว่า 2,700,000 ตารางเมตร ทำให้หอสักการะฟ้าเทียนถานได้ชื่อว่าเป็น สถานที่เพื่อการประกอบพิธีบวงสรวงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกในฐานะของสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมการวางผัง และด้านวัฒนธรรม ที่สืบทอดต่อกันมายาวนานกว่า 2,000 ปีของประเทศจีน

"พระราชวังฤดูร้อน" สถานพำนักแห่งเซียน

พระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน ถือเป็นหนึ่งในพระราชวังโบราณอันตระการตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน มีพื้นที่รวมถึง 3.08 ตารางกิโลเมตร มีสถาปัตยกรรมและสิ่งปลูกสร้างสวยงามมากมายไม่ว่าจะเป็นสะพานในพระราชวังที่ยาวที่สุด เรือหินอ่อนอันสวยงามที่สร้างขึ้นตามรับสั่งของซูสีไทเฮา และยังมีทะเลสาบคุณหมิงอันกว้างใหญ่ที่สร้างขึ้นจากแรงงานของมนุษย์ เช่นเดียวกับภูเขาว่านโซ่วซาน ซึ่งความงดงามอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้เองที่ทำให้องค์กรยูเนสโกได้มีมติยกย่องให้พระราชวังฤดูร้อนแห่งเมืองปักกิ่ง เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่มีคุณค่าจากความมหัศจรรย์สถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างด้วยมือมนุษย์ และยังเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และผลงานศิลปะในปี 1998

อยุธยา อาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งราชธานีไทย

นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อาณาจักรของชนชาติไทยโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 ที่เต็มไปด้วยความรุ่มรวยทางด้านศิลปวัฒนธรรม การปกครอง ศาสนา และการค้าขายกับนานาชาติ และยังคงหลงเหลือร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตให้สัมผัสในฐานะของ "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา" ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งประกอบไปด้วยวัดวาอาราม พระราชวังโบราณ และโบราณสถานสำคัญของชาติถึง 69 แห่ง และยังได้จดทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกภายใต้ชื่อ "นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย

เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัยถือเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย พื้นที่ในปัจจุบันประกอบด้วยอุทยานทางประวัติศาสตร์ 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญทั้งพระราชวัง และศาสนสถานต่างๆ ที่บ่งบอกถึงเรื่องราวสำคัญในอดีต และทำให้ในปัจจุบัน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" ในปี พ.ศ. 2534