9 มงคลวัดสุทัศน์ฯ…สักการะเพื่อมงคลในชีวิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (7,956)
  • ByWebmaster
  • 09:38:01 | 27 เม.ย. 2565

9 มงคลวัดสุทัศน์ฯ…สักการะเพื่อมงคลในชีวิต จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

9 Monkol Wat Suthat Thep Wararam Ratchaworamahawihan, Bangkok, Thailand

             วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (Wat Suthat Thep Wararam Ratchaworamahawihan) หรือ “วัดสุทัศน์” ถือเป็น 1 ใน 6 วัดสำคัญของประเทศที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2350 บริเวณใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ใกล้กับเสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เดิมทีพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โดยมีพระราชประสงค์จะสร้างให้เป็นศูนย์กลางพระนคร และสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระวิหารต่อจนเสร็จพร้อมกับสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานขึ้นใหม่ พระราชทานนามวัดเป็น วัดสุทัศนเทพวราราม จากเดิมที่เรียกกันว่า “วัดพระโต” จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนาม พระโต ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารว่า “พระพุทธศรีศากยมุนี” และพระประธานในพระอุโบสถว่า “พระพุทธะตรีโลกเชษฐ์”

             โดยนอกจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งสององค์แล้ว ภายในวัดสุทัศน์ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ประกอบเป็น “9 มงคลวัดสุทัศน์” หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 ประการที่ผู้ที่เดินทางมาวัดสุทัศน์ นิยมแวะเวียนมากราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล อันได้แก่


เกี่ยวกับ 9 มงคลวัดสุทัศน์

1. พระพุทธศรีศากยมุนี

             “พระพุทธศรีศากยมุนี” ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยสำริดปิดทอง สร้างขึ้นในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง เดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในปีพ.ศ. 2350 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปอัญเชิญพระใหญ่จากเมืองสุโขทัย ล่องตามลำน้ำมายังพระนคร เมื่อมาถึงทรงโปรดให้มีพิธีสงฆ์ และงานสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน จึงอัญเชิญขึ้นบกพร้อมด้วยขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ เพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามพระใหญ่องค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนี”


2. พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)

             “พระสุนทรีวาณี หรือ ลอยองค์” ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นปูชนียวัตถุ รูปเปรียบพระธรรม ผู้ออกแบบคือ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เดิมพระสุนทรีวาณี เป็นภาพเขียนโบราณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 3 ได้ดำริสร้างขึ้นด้วยการผูกลักษณาการ และมอบหมายให้หมื่นสิริธัชสังกาศเขียนภาพขึ้น โดยมีลักษณะเทพธิดาทรงเครื่องอย่างบุรุษ แสดงนิสีธนาการ บนดอกบัว สื่อถึงพระธรรม พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก สื่อถึงเชิญชวนให้มาศึกษาปฏิบัติ พระหัตถ์ซ้ายมีแก้ววิเชียรวางประทับ สื่อถึงพระนิพพาน มีองค์ประกอบรายล้อมด้วยมนุษย์นั่งบนดอกบัวซ้ายขวา ด้านล่างมีนาคและสัตว์น้ำ ด้านบนมีรูปเทพยดา พรหม สื่อถึงสังสารวัฏฏ์

3. พระพุทธตรีโลกเชษฐ์

             “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์หล่อขึ้น ณ โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานภายในองค์พระพุทธรูปด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” 

4. พระกริ่งใหญ่

             “พระกริ่งใหญ่” หรือ “พระกริ่งธรรมปิฎก 60” ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดปิดทอง สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2534 โดยคณะศิษย์ยานุศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 7 มีวัตถุประสงค์จัดสร้างเพื่อถวาย สักการบูชาพระคุณในวาระที่เจ้าประคุณมีอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมปิฎกจึงได้ถวายพระนามพระกริ่งใหญ่องค์นี้ว่า “พระกริ่งธรรมปิฎก 60”

5. ท้าวเวสสุวรรณ

             “ท้าวเวสสุวรรณ” ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถด้านข้างพระกริ่งใหญ่ หล่อด้วยสำริดเคลือบสีเขียว โดยตามความเชื่อคือเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัตินั้นเกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ “กุเวร” และได้สร้างกุศลไว้มหาศาล เมื่อถึงแก่กรรมได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกุเวรในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ปกครองหมู่ยักษ์ และอมนุษย์ มีราชธานีชื่อวิสาณะ ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่า “ท้าวเวสสุวรรณ”

6. พระพุทธเสฏฐมุนี

             “พระพุทธเสฏฐมุนี” หรือ “หลวงพ่อกลักฝิ่น” ประดิษฐานภายในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยกลักฝิ่นปิดทอง โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ปราบปรามกวาดล้างฝิ่นอย่างเด็ดขาด ทรงโปรดให้นำฝิ่นมาเผาทำลายที่สนามไชย และนำกลักฝิ่นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น” 

7. พระพุทธรังสีมุทราภัย

             “พระพุทธรังสีมุทราภัย” “หลวงพ่อเหลือ” ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้นำสิ่งที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปมาซ่อม แปลงพระพุทธรูปองค์นี้ที่ชำรุดอยู่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธรังสีมุทราภัย” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเหลือ”  

8. สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

รูปหล่อ “สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)”  ประดิษฐานอยู่ส่วนขวาสุด ภายในศาลาการเปรียญ สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม พระองค์ที่ 4 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัตนั้น คณะสงฆ์ได้จัดให้มีการสอบบาลีสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ทรงดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีเป็นพระองค์แรก และยังทรงได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้างพระกริ่งของเมืองไทย

9. ต้นพระศรีมหาโพธิ์

             “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้อัญเชิญหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงรับมาจากคณะสมณทูตสยาม ซึ่งนำกลับมาถวายจากประเทศศรีลังกาเมื่อปีพ.ศ. 2361 และโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศนเทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และวัดสระเกศ และในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาประเทศอินเดีย อีกต้นหนึ่งที่สัตตมหาสถาน ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางสมาธิ


การเดินทางไปวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

             - เดิน นักท่องเที่ยวสามารถเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารระยะทางประมาณ 600 เมตร ใช้เวลาประมาณ 7 นาที

             - รถประจำทาง มีรถประจำทางที่ผ่านวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารคือ รถประจำทางสาย 10, 12, 15, 19, 35, 42, 48, 73, 96

             - รถแท็กซี่ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถสามล้อได้ ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง


เวลาทำการเปิด – ปิด

             เปิดทุกวัน เวลา 09.00 - 18.00 น.


การซื้อบัตรเข้าชม

             การเข้าชมวัดสุทัศน์ ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปชม 9 มงคลวัดสุทัศน์

             พระพุทธศรีศากยมุนี  2. พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์) 3. พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ 4. พระกริ่งใหญ่ 5. ท้าวเวสสุวรรณ  6. พระพุทธเสฏฐมุนี 7. พระพุทธรังสีมุทราภัย 8. สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  9. ต้นพระศรีมหาโพธิ์


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             ตลอดทั้งปี


ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้

             บริเวณด้านหน้าวัดสุทัศน์มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เสาชิงช้า สัญลักษณ์อันโดดเด่นของกรุงเทพมหานคร เป็นเสาไม้สีแดงตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตใช้เป็นที่ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู




             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม 9 มงคลวัดสุทัศน์ สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       9 มงคลวัดสุทัศน์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                       (9 Monkol Wat Suthat Thep Wararam Ratchaworamahawihan, Bangkok, Thailand)

                       ระดับความนิยม : 

                       อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท

                       เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 09.00 - 18.00 น.

                       ตั้งอยู่ที่ : ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)02 222 6935

                       เว็บไซต์ : https://bit.ly/2TRvBUr

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                       ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/2HIt51t

                                       ศูนย์ข้อมูลการเดินทางกรุงเทพมหานคร https://www.transitbangkok.com/th/

                                       ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ