วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (6,094)
  • ByWebmaster
  • 16:46:50 | 27 พ.ค. 2564

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Wat Ratcha Orasaram Ratchaworawihan, Bangkok, Thailand 


วัดราชโอรสารามราชวรวิหารเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 

             วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (Wat Ratcha Orasaram Ratchaworawihan) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณอายุสองร้อยกว่าปี มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ ตรงที่มีการนำศิลปะจีนมาผสมผสานกับศิลปะไทยในการออกแบบตกแต่งอาคารต่างๆ ภายในวัด ซึ่งมีความสวยงามวิจิตรบรรจงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัดแห่งนี้ นอกจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะได้มีโอกาสสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดแล้ว ยังสามารถเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและศิลปะการตกแต่งต่างๆ ภายในวัดได้อย่างเพลิดเพลินอีกด้วย


แผนที่ตั้ง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (Wat Ratcha Orasaram Ratchaworawihan) กรุงเทพฯ ประเทศไทย


ประวัติ

             วัดราชโอรสารามราชวรวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ตัววัดตั้งอยู่ริมคลองสนามไชยฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และมีพื้นที่ติดกับคลองบางหว้า ภายในเขตบางขุนเทียน ของกรุงเทพมหานคร

             วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เดิมมีชื่อว่า วัดจอมทอง แต่บ้างก็เรียกว่า วัดเจ้าทอง หรือ วัดกองทอง โดยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 ราว พ.ศ. 2363 ได้เกิดข่าวว่าทางพม่ากำลังเตรียมยกทัพมาตีเมืองสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้พระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระยศของรัชกาลที่ 3 ในขณะนั้น) ทรงคุมทัพไปสกัดทัพพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยก่อนเสด็จไปได้ประทับแรมที่หน้าวัดแห่งนี้แล้วทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม และทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ ต่อมาเมื่อทรงยกทัพไปถึงที่หมายกลับทรงพบว่าพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามข่าวที่เล่าลือกัน จึงทรงเลิกทัพกลับพระนคร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ และถวายเป็นพระอารามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" (ซึ่งหมายถึงวัดของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ซึ่งเป็นพระราชโอรสของในหลวงรัชกาลที่ 2 ในขณะนั้น)

             วัดราชโอรสตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นวัดไทยแห่งแรกที่มีการสร้างสรรค์นอกกรอบ นั่นเพราะในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้เป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมได้ตามพระราชหฤทัย ซึ่งแม้จะเป็นศิลปะจีนแต่ก็มีการผสมผสานกับศิลปะไทยได้อย่างงดงามและลงตัวเป็นตัวอย่างมาก โดยลักษณะการผสมผสานทางด้านศิลปกรรมที่เด่นๆ ก็อย่างเช่น พระอุโบสถที่มีหลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา และหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสันสวยงามเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ด้านล่างเป็นภาพบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงภูเขา ต้นไม้ และตามขอบหลังคาประดับด้วยกระเบื้องสี และโดยรอบ

             ด้านในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร ซึ่งเป็นพระประธานปางสมาธิ โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูปพร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาลและศิลาจารึกดวงชันษา ต่อมาใน พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)

             นอกจากนี้ยังมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้ว  ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดความยาว 20 เมตร และที่ผนังพระระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวดติดไว้เป็นระยะจำนวนทั้งสิ้น 92 แผ่น ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


หน้าบันพระอุโบสถประดับด้วยกระเบื้องหลากสี และไม่มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนอย่างวัดทั่วไป


ทวารบาลในชุดแบบจีน


ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตรและทางด้านขวาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 3


ซุ้มหน้าต่างที่สลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง และชายหลังคาด้านบนประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง


บริเวณด้านหลังของพระอุโบสถ


มีเจดีย์สีขาวเรียงรายอยู่ภายนอกพระอุโบสถ และพื้นทางเดินสะอาดเงางาม


อาคารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีน


ประตูบานพับแบบจีนที่สลักลวดลายสีทอง


ความวิจิตรบรรจงของจิตรกรรมบนซุ้มประตู


พระพุทธไสยาสน์ภายในวิหารด้านหลังพระอุโบสถ


พระพุทธไสยาสน์มีความยาว 20 เมตร


การเดินทางไปวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

             - รถยนต์ (Car) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยัง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร มีระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

             - ขนส่งสาธารณะ (Public transport) จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสมาลงที่สถานีสยาม เพื่อเปลี่ยนขบวนขึ้นสายสีลม ไปลงสถานีวุฒากาศ และเดินต่อไปยัง วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง


เวลาทำการเปิด
-ปิด

             เปิดทุกวัน 06:00 น. – 18:00 น.


อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             ตลอดทั้งปี 


             นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยว วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                         (Wat Ratcha Orasaram Ratchaworawihan, Bangkok, Thailand)

                         ระดับความนิยม : 

                         อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                         เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน 06:00 น. – 18:00 น.

                         ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                         สถานที่ตั้ง : -

                         โทรศัพท์ : (+66) 02 893 7274

                         เว็บไซต์ : http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchaorasaram.php  

                         ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com/

                                          เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร http://www.bangkok.go.th/main/index.php?l=th

                                          เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/Home

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ