อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย

  • อ่าน (6,077)
  • ByWebmaster
  • 10:53:58 | 8 พ.ค. 2564

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย

Phu Prabhat Historical Park, Udon Thani, Thailand

             อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (Phu Prabhat Historical Park) หนึ่งในสถานที่ที่เที่ยวที่ไม่ควรพลาดของจังหวัดอุดรธานี เพราะนอกจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้แล้ว ยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติที่กัดเซาะมาเป็นเวลาหลายล้านปีกระจายตัวอยู่ทั่วไป เป็นสภาพภูมิประเทศที่สวยงามแปลกตา


ประวัติ

             อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนเขา “ภูพระบาท” ภูเขาขนาดย่อมลูกหนึ่งของเทือกเขาภูพาน อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ชื่อ “ภูพระบาท” มีที่มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้ และภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติที่กัดเซาะมาเป็นเวลาหลายล้านปี จึงทำให้สภาพภูมิประเทศแปรเปลี่ยนเป็นเสาหินและเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตาเช่นในปัจจุบัน

             อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,000 – 3,000 ปีมาแล้ว โดยพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ตามลำดับ ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ทางกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนจำนวน 3,430 ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2524 จากนั้นจึงได้พัฒนาจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุด

             สภาพภูมิประเทศของภูพระบาทมีลักษณะเป็นโขดหินและเพิงผาที่เกิดจากการผุพังสลายตัวของหินทรายกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อหินที่แข็งแกร่งแตกต่างกัน ระหว่างชั้นของหินที่เป็นทรายแท้ๆ ซึ่งมีความแข็งแกร่งมาก กับชั้นที่เป็นทรายปนปูนซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยกว่า นาน ๆ ไปจึงเกิดเป็นโขดหิน และเพิงผารูปร่างแปลกๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

             ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว วิถีชีวิตของผู้คน ในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรม อยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัย ซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจำนวนมาก เช่น ที่ถ้ำวัว – ถ้ำคน และภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งภาพเขียนสีบนผนังหินเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป


โบราณสถานที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อาทิ

             หอนางอุสา ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ มีความสูง 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า หอนางอุสามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนหอนางอุสามีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้องคูหา สันนิษฐานว่าด้านในอาจใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา


หอนางอุสา


             
ถ้ำพระ
 มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาว ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ หลักฐาน คือ ที่ผนังใต้เพิงหินมีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วทั้งผนังเพิง ซึ่งนักวิชาการระบุว่าพระพุทธรูปสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปกรรมผสมผสานกันระหว่างศิลปะสมัยทวารวดีและศิลปะเขมร (ศิลปะลพบุรี) จึงสันนิษฐานว่าศาสนสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุช่วงสมัยปลายทวารวดี – สมัยลพบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะเขมรเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นและแพร่กระจายเข้ามาในดินแดนประเทศไทย  


ถ้ำพระ


             
กู่นางอุสา
(กี่นางอุสา) มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติมีขนาดกว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 4 เมตร  หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่มีสองสมัยคือหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพเขียนสีบนผนังด้านตะวันตก และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์คือหลุมสกัดพื้นที่ใต้เพิงซึ่งน่าจะใช้ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระพุทธรูปและใบเสมาหินที่ปักอยู่ทั้ง 8 ทิศ และพบหลุมเสากลมเรียงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบแนวใบเสมาอีกชั้นหนึ่ง (อาจเป็นหลุมเสารั้ว)


กู่นางอุสา


บ่อน้ำนางอุสาที่อยู่ใกล้ๆ กัน


             
วัดพ่อตา
เป็นเพิงหินที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ และใช้ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 – 16 เป็นต้นมาที่บริเวณผนังหิน ตรงส่วนแกนกลางและพื้นหินด้านล่างมีรอยการสกัดหิน จนกลายเป็นห้องโล่งขนาดใหญ่อยู่โดยรอบแกนหิน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเจาะหลุมกลมหลายหลุมเรียงกันไปตามแนวลานหินด้านนอก สันนิษฐานว่าใช้สำหรับปักเสาไม้เพื่อกั้นด้วยเครื่องไม้ใช้เป็นผนังห้อง บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของห้องที่ผนังแกนหินด้านใน มีร่องรอยการระบายสีแดงเป็นประภามณฑลของพระพุทธรูป 3 องค์เรียงต่อกัน สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ ณ ตำแหน่งนี้แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายแตกหักไปหมดแล้ว ถัดไปทางทิศใต้ประมาณ 5 เมตร เป็นที่ตั้งของเพิงขนาดเล็กเรียกว่า “โบสถ์วัดพ่อตา” หรือ “ถ้ำวัดพ่อตา” ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 3 องค์ (สร้างใหม่) และเป็นที่เก็บชิ้นส่วนของพระพุทธรูปหินจำนวนหนึ่ง สำหรับด้านนอกมีการก่อผนังหินขึ้นมาใหม่


วัดพ่อตา


วัดพ่อตา


วัดพ่อตา

             นอกจากนี้ตามเพิงหินบางเพิงภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยังมีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีแดงต่อเนื่องกัน มีทั้งภาพลายเส้นคู่ขนาน ลายหยักฟันปลา ลายวงคด ลายทางมะพร้าว ลายสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นแถวยาว ลายขีดเป็นบั้ง ฯลฯ และที่เขียนด้วยสีขาวเป็นรูปสัตว์เช่นช้าง หงส์ ม้า และลายเส้นอื่นๆ กระจายไปทั่วไม่ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน


การเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี

             - เครื่องบิน (Flight) การเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ไปสนามบินจังหวัดอุดรธานีใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง

             - รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดอุดรธานี มีระยะทาง 576 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง  

             - รถไฟ (Train) การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดอุดรธานี ใช้เวลาเร็วสุดประมาณ 10 ชั่วโมง ทั้งนี้อาจใช้เวลานานกว่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทของรถไฟ


การเดินทางไปอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

             อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ที่บ้านติ้ว หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานีประมาณ 73  กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 1 ชั่วโมง 30 นาที  


เวลาทำการเปิด– ปิด

             เปิดทุกวัน เวลา 8.30 – 16.30 น.


อัตราค่าเข้าชม

             ชาวไทยราคา 10 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท


ช่องทางเดินกว้างขวางใต้เพิงหิน 


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

             ชมเพิงหินรูปทรงต่างๆ และภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์


คอกม้าท้าวบารส


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี


             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                        อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย

                        (Phu Prabhat Historical Park, Udon Thani, Thailand)

                        ระดับความนิยม : 

                        อัตราค่าเข้าชม :  ชาวไทยราคา 10 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท

                        เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 8.30 – 16.30 น.

                        ตั้งอยู่ที่ : บ้านติ้ว หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

                        โทรศัพท์ : (+66) 0 4225 0616, 0 4225 1350

                        เว็บไซต์ : -

                        ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com 

                                       ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี https://udonthani.mots.go.th

                                       ศูนย์ข้อมูลการเดินทางจังหวัดอุดรธานี https://www.dlt.go.th/site/udonthani/m-about/6907

                                       ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ (Phu Pha Toep National Park) หรือ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นหนึ่งในอุทยานที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย โดยอุทยานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของหินรูปทรงประหลาดและถ้ำที่มีจิตรกรรมวาดด้วยมือ

อ่านต่อ

ภูห้วยอีสัน จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย

ภูห้วยอีสัน (Phu Huai Isan) เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกแห่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลหมอกลอยละล่องเหนือสายน้ำโขง และขุนเขาสลับซับซ้อน ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเมื่อมาจังหวัดหนองคาย

อ่านต่อ

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม (Pa Hin Ngam National Park) จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าสมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียวที่จะออกดอกสีชมพูอมม่วงบานสะพรั่งไปทั่วผืนป่าในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี

อ่านต่อ

ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย

ปราสาทพนมวัน (Prasat Phanom Wan) อีกหนึ่งปราสาทหินเก่าแก่ในจังหวัดนครราชสีมาที่สร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นเทวสถาน ปราสาทหินแห่งนี้ถือเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย

อ่านต่อ

5 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดยโสธร ประเทศไทย

จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดยโสธรมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมหลายแห่ง เพราะเป็นเมืองที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยทวาราวดี วันนี้ทาง Palanla จึงได้รวบรวมสถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดยโสธรมาฝากทุกท่านไว้ในบทความนี้

อ่านต่อ

วัดพระพุทธบาทยโสธร จังหวัดยโสธร ประเทศไทย

วัดพระพุทธบาทยโสธร (Wat Phra Buddhabat Yasothon) เป็นวัดที่มีความสวยงามจากหมู่อาคารสีขาวท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนนิยมมาเที่ยวชมวัดและสักการะโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาอันได้แก่ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางนาคปรก และศิลาจารึกโบราณที่มีอายุราวห้าร้อยปี รวมทั้งพระพุทธรูปหยกขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ และพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์ของวัดอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวัดดังของจังหวัดยโสธรที่ควรค่าต่อการมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง

อ่านต่อ

8 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดในภาคอีสานตอนล่างที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นจุดชมวิวอันน่าประทับใจ ไปจนถึงแหล่งโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัดวาอารามที่สร้างขึ้นอย่างงดงามให้เที่ยวชม วันนี้ทาง Palanla ได้รวบรวม 8 สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดศรีเกษมาฝากทุกท่านกันในบทความนี้

อ่านต่อ

ผามออีแดง จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

ผามออีแดง (Pha Mor E Daeng) เป็นหน้าผาที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นปราสาทเขาพระวิหาร ป่าไม้ และบ้านเมืองของกัมพูชาที่อยู่ไกลออกไปได้ ในยามเช้าของช่วงปลายฝนต้นหนาวจะเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงาม ส่วนในยามพระอาทิตย์ตกดินจะมองเห็นฝูงค้างคาวบินออกมาจากถ้ำเพื่อหากิน นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ของผามออีแดงคือภาพจิตรกรรมโบราณที่ถูกสลักไว้ริมหน้าผาซึ่งมีความเก่าแก่กว่าหนึ่งพันห้าร้อยปีทีเดียว ถือเป็น Unseen Thailand ที่คุ้มค่าต่อการมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง

อ่านต่อ

น้ำตกสำโรงเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

น้ำตกสำโรงเกียรติ (Samrong Kiat Waterfall) เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด น้ำตกแห่งนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่บริเวณด้านบนหน้าผาจะมีแอ่งลานหินขนาดใหญ่รองรับธารน้ำเอาไว้ก่อนที่จะไหลตกลงมาตามชั้นหน้าผา น้ำตกสำโรงเกียรติมีน้ำไหลตลอดปี และจะมีน้ำมากที่สุดในช่วงฤดูฝน บรรยากาศโดยรอบมีความร่มรื่นจากป่าไม้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับการมาเล่นน้ำ นั่งพักผ่อนหย่อนใจ และถ่ายภาพสวยๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน

อ่านต่อ

เกาะกลางน้ำ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

เกาะกลางน้ำ (Koh Klang Nam) เป็นเกาะที่อยู่ใจกลางอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บนเกาะแห่งนี้เป็นสวนสาธาณะขนาดใหญ่และเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น หอศรีลำดวนเฉลิมพระเกียรติที่เป็นหอชมเมืองศรีสะเกษได้รอบทิศ และศรีสะเกษอควาเรียมซึ่งเป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นี่จึงเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของจังหวัดศรีสะเกษอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก

อ่านต่อ
สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ