- หน้าแรก
- ท่องเที่ยวในประเทศ
- 3 วัน 2 คืน บุรีรัมย์ – นครราชสีมา…เที่ยว 3 ปราสาทหิน เยือนถิ่นภูเขาไฟ
3 วัน 2 คืน บุรีรัมย์ – นครราชสีมา…เที่ยว 3 ปราสาทหิน เยือนถิ่นภูเขาไฟ
- อ่าน (7,509)
- ByWebmaster
- 17:05:39 | 5 มี.ค. 2564
3 วัน 2 คืน บุรีรัมย์ – นครราชสีมา…เที่ยว 3 ปราสาทหิน เยือนถิ่นภูเขาไฟ
ทริปนี้ Palanla จะพาทุกคนท่องเที่ยวไปยัง 2 จังหวัดของภาคอีสานที่มีชื่อเสียงในเรื่องของปราสาทหินและในอดีตเป็นบริเวณที่เคยมีภูเขาไฟมาก่อน ได้ยินเช่นนี้แล้วหลายๆ คนอาจจะพอนึกออก เพราะเราจะพาออกเดินทางไปที่จังหวัดบุรีรัมย์และนครราชสีมา จังหวัดหลังเป็นชื่อที่ฟังแล้วอาจให้ความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่าเพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ทว่าบุรีรัมย์เองก็ไม่ถือว่าห่างไกลเพราะสองจังหวัดนี้อยู่ติดกันเลยนั่นเอง เรียกว่าหากไปถึงนครราชสีมาขับรถต่อไปอีกหน่อยก็เข้าเขตบุรีรัมย์แล้ว
สำหรับทริปนี้เราจะพาพุ่งตรงไปที่บุรีรัมย์ก่อนแล้วค่อยๆ วนกลับมาเที่ยวนครราชสีมา เวลา 2 วัน 3 คืนที่มีอาจฟังดูสั้นแต่รับรองว่าพอสำหรับการเก็บสถานที่เที่ยวเด่นๆ น่าสนใจของทั้งสองจังหวัด โดยเฉพาะปราสาทหิน 3 แห่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญ พร้อมแล้วก็ไปกันเลย!
แผนที่ประเทศไทย แสดงตำแหน่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดนครราชสีมา
แผนที่แสดงตำแหน่งของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้ง 3 วันในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
(โดย วันที่ 1 เส้นสีแดง วันที่ 2 เส้นสีเหลือง วันที่ 3 เส้นสีน้ำเงิน)
--- วันที่ 1 ---
(กรุงเทพฯ – บุรีรัมย์ : กทม. - ปราสาทเมืองต่ำ - ปราสาทพนมรุ้ง - ถนนคนเดินเซราะกราว)
ปราสาทเมืองต่ำ
วันแรกแรกสุดนี้เราออกเดินทางจากกรุงเทพตั้งแต่ช่วงเช้า ผ่านจังหวัดนครราชสีมาโดยมุ่งหน้าไปที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ 1 ใน 3 ปราสาทหินซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของทริปนี้ ส่วนที่เที่ยวในเขตจังหวัดนครราชสีมานั้นเราจะเก็บเอาไว้ในวันกลับเนื่องจากที่เที่ยวต่างๆ จะอยู่เส้นทางฝั่งที่เป็นขาเข้ากรุงเทพฯ พอดี จากกรุงเทพฯ ถึงปราสาทเมืองต่ำเรา ใช้เวลาเดินทางราวๆ 6 ชั่วโมง 20 นาที กับระยะทาง 368 กิโลเมตร เรียกว่าหากออกจากกรุงเทพฯ กันตั้งแต่หกโมงเช้าก็จะมาถึงปราสาทเมืองต่ำในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เลยหัวไปนิดหน่อย
ปราสาทเมืองต่ำ (Mueng Tam Stone Sunctuary) เป็นศาสนสถานที่มีลักษณะเป็นปรางค์ก่ออิฐ 5 องค์ เรียงเป็นสองแถวที่สร้างตามคติความเชื่อทางศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 -17 เพื่อบูชาพระศิวะซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานเดียวกันกับการสร้างปราสาทพนมรุ้ง จากหลักฐานทางโบราณคดียังพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนขนาดใหญ่อยู่บริเวณนี้ เนื่องจากมีการค้นพบโบราณวัตถุและเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ในการดำรงชีวิตประจำวันของคนในสมัยโบราณ ลักษณะที่โดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำคือ มีการจำหลักส่วนต่างๆ ด้วยลวดลายอันประณีตสวยงาม และมีสระบารายขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าทะเลเมืองต่ำ ซึ่งนับเป็นความสามารถอันน่าทึ่งทางสถาปัตยกรรมของคนสมัยโบราณที่หาชมได้ยาก
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00 – 18.00 น.
พิกัด GPS : 14°29'46.4"N 102°58'56.5"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปราสาทเมืองต่ำ ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=271
ปราสาทพนมรุ้ง
จากปราสาทเมืองต่ำเราก็ขับรถมาต่อกันที่ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทหินสำคัญอีกแห่งที่เราปักหมุดไว้อย่างไม่อาจพลาดในทริปนี้ เพราะจะเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตกส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บานให้ได้ชมพอดี ระยะทางจากปราสาทเมืองต่ำมายังปราสาทพนมรุ้งนั้นก็ไม่ไกลกันมาก เพียง 8.2 กม.เท่านั้น
ปราสาทพนมรุ้ง (Panom Rung Historical Park) ปราสาทหินเก่าแก่ศิลปะขอมที่มีอายุผ่านกาลเวลามาร่วมพันปี จากการรังสรรค์ด้วยภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณที่ถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ผ่านลายสลักบนหินนับร้อยนับพันก้อนอย่างวิจิตรงดงาม จนเกิดเป็นเทวสถานอันยิ่งใหญ่บนยอดภูเขาไฟสูงที่ดับสนิทแล้วของจังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากความงดงามและยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมแล้ว ความน่าอัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้งคือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน โดยในหนึ่งปีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเชื่อกันว่าการรับแสงอาทิตย์ที่สอดส่องผ่านช่องประตู และแสงอาทิตย์ที่ไปต้องกับศิวลึงค์ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศิวะที่ตั้งอยู่กลางปราสาทเขาพนมรุ้งนั้น เป็นการเสริมพลังชีวิตและสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้ชม
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.
พิกัด GPS : 14°31'54.4"N 102°56'25.0"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปราสาทพนมรุ้ง ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=270
ถนนคนเดินเซราะกราว
หลังจากแสงอาทิตย์ได้อำลาช่องประตูทั้ง 15 บานไปแล้ว เราก็เดินทางออกจากปราสาทพนมรุ้ง มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองบุรีรัมย์ซึ่งจะเป็นที่พำนักของเราในค่ำคืนนี้ ด้วยระยะทาง 63 กิโลเมตรกว่าๆ พวกเราก็เดินทางมาถึงตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับสถานที่ที่เหมาะแก่การเดินเล่น หาของอร่อยๆ รับประทานในคืนวันเสาร์เช่นนี้ ไม่น่าจะมีที่ใดที่เหมาะไปกว่าถนนคนเดินเซราะกราว ถนนคนเดินยอดฮิตใจกลางเมืองบุรีรัมย์ที่จัดขึ้นทุกๆ วันเสาร์และอาทิตย์
ถนนคนเดินเซาะกราว (Sroew Ground Walking Street) ถนนคนเดินสายวัฒนธรรม ความยาว 1 กิโลเมตรที่จัดขึ้นบนถนนพิทักษ์บริเวณด้านหน้าจวนผู้ว่าทุกๆ บ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ไปจนถึง 22.00 น. เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีบรรยากาศคึกคักเหมาะแก่การมาเดินเล่น ผ่อนคลาย ละลานตาด้วยของกิน ของใช้ สินค้าพื้นเมืองและงานฝีมือเก๋ๆ ที่มีให้เลือกซื้อเลือกชมกันอย่างเพลิดเพลินจาก 300 กว่าร้านค้า ว่ากันว่าเมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนถนนคนเดินสายนี้แล้วจะได้เห็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเมืองบุรีรัมย์ที่ดีที่สุดจากที่นี่
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 17.00 - 22.00 น.
พิกัด GPS : 14°59'45.3"N 103°06'29.5"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ถนนคนเดินเซาะกราว ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=351
--- วันที่ 2 ---
(บุรีรัมย์ – นครราชสีมา : พระบรมบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 - บุรีรัมย์คาสเซิล - วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง - อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย - อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี)
พระบรมบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
เมื่อมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์แล้วสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาดก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวสถานที่แห่งอื่นๆ กันต่อ ก็คือการแวะไปสักการะพระบรมบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เพื่อความเป็นสิริมงคลกันสักนิด ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ทราบว่าพระองค์ทรงมีความสำคัญต่อจังหวัดบุรีรัมย์อย่างไรจึงได้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานอยู่ใจกลางเมืองเช่นนี้
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (The Monument of King Rama I) ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนช้าง ใจกลางเมืองบุรีรัมย์ เป็นพระรูปขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณประทับบนช้างศึก พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบุรีรัมย์เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ขึ้นเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง
พิกัด GPS : 14°59'12.2"N 103°06'15.8"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=272
บุรีรัมย์คาสเซิล
ห่างจากพระบรมบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เพียง 3.8 กิโลเมตรคือที่ตั้งของบุรีรัมย์คาสเซิล หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญแห่งล่าสุดของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ใครมาก็เที่ยวจังหวัดนี้ก็จะต้องไม่พลาด ด้วยความสวยงามของสถาปัตยกรรมปราสาทหินจำลองที่สร้างขึ้นตามแบบปราสาทหินพนมรุ้ง บวกกับความทันสมัยครบวงจร มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ ทำให้เราต้องขอถือโอกาสแวะไปเยี่ยมชมเช่นกัน
บุรีรัมย์คาสเซิล (Buriram Castle) สถานที่ท่องเที่ยวครบวงจรแห่งใหม่ของบุรีรัมย์ที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น ออกแบบโดยอิงรูปแบบจากหมู่บ้านชุมชนรอบปราสาทหินพนมรุ้ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 370 ล้านบาท มีทั้ง "ปราสาทสายฟ้า" ที่ก่อสร้างตามรูปแบบของปราสาทขอมในอดีตด้วยความประณีต ละเอียดลออ รวมถึงยังมีการคำนวณพระอาทิตย์ตกส่องผ่านประตูเช่นเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้งด้วย ภายในปราสาทเป็นหอเกียรติยศที่เก็บถ้วยรางวัลต่างๆ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์เอาไว้ นอกจากนี้ยังมี "สวนศิวะ 12" สวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหม่ของบุรีรัมย์ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "มหาศิวลึงค์" ทำจากหินทรายความสูงกว่า 9 เมตร ซึ่งเป็นศิวลึงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 - 21.00 น.
พิกัด GPS : 14°57'60.0"N 103°05'31.9"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บุรีรัมย์คาสเซิล ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=353
วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง
จากบุรีรัมย์คาสเซิลเราจะพาไปต่อกันที่วนอุทยานภูเขาไฟกระโดงที่อยู่ห่างออกไปราวๆ 4.7 กิโลเมตร ถือว่าใกล้มากๆ จากตัวเมือง สำหรับผู้ที่ต้องการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติๆ ขึ้นมาอีกหน่อย ซึ่งชื่อเสียงอันเป็นที่รู้จักของที่นี่ก็คือปากปล่องภูเขาไฟในอดีตที่ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็นเป็นแอ่งลึกได้ชัดเจนในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่น่าสนใจที่หากไม่ได้มาแล้วก็เหมือนยังมาไม่ถึงบุรีรัมย์
วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง (Khao Kradong Forest Park) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ ธรณีวิทยาและชีววิทยาที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟอายุ 3 แสนถึง 9 แสนปีที่ยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องเป็นแอ่งลึกให้เห็นได้ชัดเจนแม้ว่าจะดับสนิทแล้วก็ตาม รอบๆ วนอุทยานภูเขาไฟกระโดงเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด รวมถึงผลของต้นโยนีปีศาจซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายากที่มักพบในบริเวณเขตภูเขาไฟ รวมทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็กโดยเฉพาะนกนานาชนิด รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าเต็งรังครอบคลุมพื้นที่ราว 1,450 ไร่ด้วย
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 8.00 – 18.00 น.
พิกัด GPS : 14°56'25.4"N 103°05'34.6"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=274
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เราใช้เวลารื่นรมย์กับธรรมชาติที่วนอุทยานภูเขาไฟกระโดงกันพอหอมปากหอมคอ ก่อนที่ล้อจะต้องหมุนมุ่งสู่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีปลายทางอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย หรือปราสาทพิมาย ซึ่งเป็นปราสาทหินสำคัญแห่งที่ 3 ของทริปนี้ ด้วยระยะทางกว่า 90 กิโลเมตรกับการเดินทางเกือบๆ 2 ชั่วโมง ก็นำเรามาถึงอุทยานประวัติศาตร์พิมาย
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย (Phimai Historical Park) เป็นที่ตั้งของปราสาทหินเลื่องชื่อใจกลางเมืองพิมาย ซึ่งถือเป็นเมืองโบราณที่สำคัญของภูมิภาคและเป็นปราสาทหินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างด้วยรูปแบบศิลปกรรมขอมแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัดที่มีความงดงาม จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะการสร้างบ่งบอกว่าปราสาทหินพิมายเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ประมาณช่วงศตวรรษที่ 16 สำหรับเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน และยังเชื่อกันว่าปราสาทหินแห่งนี้เป็นต้นแบบในการสร้างนครวัดที่เขมร
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 07.00 – 18.00 น.
พิกัด GPS : 15°13'12.1"N 102°29'31.1"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=278
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
ดื่มด่ำกับสถาปัตยกรรมและความน่าอัศจรรย์ของปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกันไปอย่างเต็มอิ่มแล้ว เพื่อไม่ให้เย็นย่ำมากนักกับระทางอีก 61 กิโลเมตรกว่าๆ ที่ยังรอเราอยู่ พวกเราก็ไม่รีรอชักช้า ขับรถออกจากอำเภอพิมายเข้าตัวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวันที่สองนี้เราก็จะพักค้างคืนกันที่เมืองย่าโมกันด้วย และแน่นอนว่าสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยเมื่อมาถึงเมืองย่าโมก็คือแวะไปกราบสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือย่าโมซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวโคราชนั่นเอง
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (Thao Suranari Monument) หรือ อนุสาวรีย์ย่าโม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคุณหญิงโม วีรสตรีไทยที่ถือเป็นสามัญชนคนแรกในประวัติศาสตร์การสู้รบของชาติ ที่ครั้งหนึ่งเคยนำชาวบ้านเข้าสู้รบอย่างกล้าหาญกับทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ที่ยกเข้ามายึดเมืองโคราช จนสามารถปกป้องบ้านเมืองเอาไว้ได้ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นรูปหล่อทองแดงรมดำของท้าวสุรนารีหรือย่าโมแต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทานในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิด 24 ชั่วโมง
พิกัด GPS : 14°58'29.0"N 102°05'53.2"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=254
--- วันที่ 3 ---
(นครราชสีมา – กรุงเทพฯ : วัดหลวงพ่อโต - กังหันลมเขายายเที่ยง – ฟาร์มโชคชัย - ไร่สุวรรณ – กทม.)
มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
วันสุดท้าย ท้ายสุดของทริปบุรีรัมย์ – นครราชสีมา หลังจากเช็คเอาท์ออกจากที่พักในตัวเมืองนครราชสีมาเป็นที่เรียบร้อยเพื่อมุ่งหน้ากลับสู่กรุงเทพฯ ระหว่างทางเราก็ถือโอกาสแวะชมและสักการะหลวงพ่อโตที่มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเป็นทางผ่านสำหรับกลับเข้ากรุงเทพฯ อยู่แล้วพอดี เรียกว่าใครที่ผ่านไปผ่านมาแถวนี้ก็จะต้องแวะเที่ยวที่นี่ เพราะเป็นวัดที่ทั้งสวยงามและโดดเด่นริมถนนมิตรภาพ
มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ วัดหลวงพ่อโต (Wat Luang Pho To) ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว้างขวางประมาณ 150 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว นับเป็นวัดที่มีความสวยงามอีกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ที่ดำเนินการก่อสร้างวัดคือคุณสรพงษ์ ชาตรี ดาราชื่อดังของเมืองไทย มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ วัดหลวงพ่อโต เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองเหลืองหลวงพ่อโตขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย บริเวณโดยรอบยังมีบรรยากาศที่สวยงาม ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงยังมีโรงทานที่มีไว้บริการให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้ทานฟรีอีกด้วย
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 6.00 – 18.00 น.
พิกัด GPS : 14°52'20.9"N 101°44'02.8"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=340
กังหันลมเขายายเที่ยง
จากมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขับรถเรื่อยมาตามเส้นทางถนนมิตรภาพอีกราวๆ 26 กิโลเมตรก็จะเป็นที่ตั้งของกังหันลมเขายายเที่ยง จุดชมวิวสวยงามและอากาศเย็นสดชื่นซึ่งเป็นที่ตั้งของกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานที่ซึ่งบอกได้เลยว่าเพราะบรรยากาศนั้นผ่อนคลาย สดชื่นดีจริงๆ
กังหันลมเขายายเที่ยง (Khao Yai Thieng Electric Wind Turbine) เป็นกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สร้างอยู่บนเขายายเที่ยงซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ชื่อว่ามีศักยภาพพลังงานลมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย กังหันลมเขายายเที่ยงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงปีละหลายล้านหน่วย โดยบนยอดเขาที่กังหันลมยักษ์ตั้งเรียงรายกันอยู่ยังมีภูมิทัศน์สวยงาม มีอ่างเก็บน้ำ และจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพสวยๆ ของเขื่อนลำตะคองและภูเขาที่ไล่เรียงลดหลั่นกันสวยงามด้วย
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
พิกัด GPS : 14°48'05.3"N 101°33'26.7"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กังหันลมเขายายเที่ยง ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=250
ฟาร์มโชคชัย
หลังจากที่แวะสูดอากาศบริสุทธิ์ รับลมเย็นๆ และชมวิวสวยๆ ของเขื่อนลำตะคองที่กังหันลมเขายายเที่ยงแล้ว ขับรถตามถนนมิตรภาพมาอีกเกือบๆ 43 กิโลเมตรเราก็มาแวะเที่ยวกันที่ฟาร์มโชคชัย เป็นชื่อซึ่งน้อยคนจะไม่เคยได้ยิน ที่นี่ถือเป็นหนึ่งหนึ่งจุดพักรถที่นักท่องเที่ยวนิยมจอดซื้อของกิน ของฝากผลิตภัณฑ์คุณภาพของฟาร์มโชคชัย ซึ่งไม่เพียงแต่แวะพักในช่วงเวลาสั้นๆ ของการเป็นทางผ่านเท่านั้น ใครที่ต้องการมาใช้เวลาท่องเที่ยวที่นี่กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทัวร์ฟาร์มหรือพักค้างคืนบรรยากาศแบบแคมป์ปิ้งก็ได้เช่นกัน แต่สำหรับคณะเราขอเพียงแวะยืดเส้นยืดสายและแวะซื้อของฝากก็พอ ณ โอกาสนี้
ฟาร์มโชคชัย (Farm Chokchai) เมื่อเอ่ยชื่อนี้คงมีน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ดินแดนสีเขียวขจีกว้างไกลสุดลูกหูลูกตาบนเนื้อที่ผืนป่าส่วนตัวกว่า 20,000 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ อำเภอปากช่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจรที่มีบรรยากาศสวยงาม เหมาะแก่การมาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ มีกิจกรรมทัวร์ชมฟาร์มให้ทำมากมายไม่ว่าจะเป็นขี่ม้า รีดนมวัว นั่งรถแทร็คเตอร์และรถม้าชมบรรยากาศรอบๆ ฟาร์ม ชมสุนัขต้อนฝูงแกะ ชมการแสดงโชว์คาวบอย ณ สถานที่ที่ได้รับสมญาว่าเป็นต้นแบบคาวบอยในเมืองไทยแล้ว ที่นี่ยังเป็นฟาร์มโคนมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย
เวลาทำการเปิด – ปิด : ฟาร์มโชคชัยเปิดทุกวัน เวลา 8.00 – 17.30 น. ส่วนการทัวร์ชมฟาร์มนั้นมีเวลา คือ วันอังคาร-ศุกร์ เปิดให้เข้าชมรอบ 10.00 น. และ 14.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดให้เข้าชมรอบเช้า 10.00 / 11.00 น. รอบบ่าย 13.00 / 14.00 น.
พิกัด GPS : 14°39'17.0"N 101°20'54.9"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ฟาร์มโชคชัย ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=354
ไร่สุวรรณ
ขับรถออกจากฟาร์มโชคชัยมา 4 กิโลเมตรกว่าๆ ก็จะเป็นไร่สุวรรณที่บริเวณทางเข้าไร่มีรูปปั้นฝักข้าวโพดสีเหลืองขนาดมหึมาตั้งตระหง่านโดดเด่น ซึ่งเป็นที่เที่ยวแห่งสุดท้ายของเราในทริปนี้ก่อนจะยิงยาวเข้ากรุงเทพฯ ไม่ต้องมองหาให้ลำบากเพราะไร่สุวรรณตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพขาเข้านั่นเลย ไม่ว่าใครที่ผ่านมาผ่านไปในเส้นทางนี้ก็ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะข้าวโพดของที่นี่นั้นขึ้นชื่อในเรื่องของความหวาน สด มีคุณภาพและราคายังย่อมเยา เหมาะแก่การแวะซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือที่ใครได้ชิมก็จะต้องถูกใจ
ไร่สุวรรณ (Suwan Farm) หรือชื่อเต็มคือ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นพื้นที่พัฒนาความรู้ และส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยทางด้านการเกษตร ไร่แห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับข้าวโพดหวานพันธุ์ดีรสชาติแสนรอร่อย ใครที่มีได้มีโอกาสได้ลองรับประทานก็ประทับใจและบอกเล่าต่อๆ กัน จึงทำให้ข้าวโพดหวานไร่สุวรรณเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นจุดแวะซื้อของฝากที่ขึ้นชื่อสำหรับผู้ที่สัญจรมาในเส้นทางถนนมิตรภาพแถวปากช่อง ข้าวโพดหวานของไร่สุวรรณมีจำหน่ายทั้งแบบแปรรูปเป็นน้ำนมข้าวโพดพาสเจอร์ไรซ์บรรจุขวด ข้าวโพดต้ม และข้าวโพดฝักสดโดยที่ต้องรับบัตรคิวสำหรับการซื้อกันเลยทีเดียว
เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
พิกัด GPS : 14°39'08.1"N 101°18'39.3"E
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไร่สุวรรณ ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=251
สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ
อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ (Phu Pha Toep National Park) หรือ อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร เป็นหนึ่งในอุทยานที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย โดยอุทยานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของหินรูปทรงประหลาดและถ้ำที่มีจิตรกรรมวาดด้วยมือ
อ่านต่อภูห้วยอีสัน จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย
ภูห้วยอีสัน (Phu Huai Isan) เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกแห่งใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ด้วยวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลหมอกลอยละล่องเหนือสายน้ำโขง และขุนเขาสลับซับซ้อน ทำให้ที่นี่เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดเมื่อมาจังหวัดหนองคาย
อ่านต่ออุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม (Pa Hin Ngam National Park) จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีสภาพป่าสมบูรณ์และมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง โดยเฉพาะทุ่งดอกกระเจียวที่จะออกดอกสีชมพูอมม่วงบานสะพรั่งไปทั่วผืนป่าในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี
อ่านต่อปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย
ปราสาทพนมวัน (Prasat Phanom Wan) อีกหนึ่งปราสาทหินเก่าแก่ในจังหวัดนครราชสีมาที่สร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 15 เพื่อเป็นเทวสถาน ปราสาทหินแห่งนี้ถือเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย
อ่านต่อ5 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดยโสธร ประเทศไทย
จังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี จังหวัดยโสธรมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมหลายแห่ง เพราะเป็นเมืองที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยทวาราวดี วันนี้ทาง Palanla จึงได้รวบรวมสถานที่ที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดยโสธรมาฝากทุกท่านไว้ในบทความนี้
อ่านต่อวัดพระพุทธบาทยโสธร จังหวัดยโสธร ประเทศไทย
วัดพระพุทธบาทยโสธร (Wat Phra Buddhabat Yasothon) เป็นวัดที่มีความสวยงามจากหมู่อาคารสีขาวท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนนิยมมาเที่ยวชมวัดและสักการะโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาอันได้แก่ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางนาคปรก และศิลาจารึกโบราณที่มีอายุราวห้าร้อยปี รวมทั้งพระพุทธรูปหยกขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ และพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์ของวัดอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวัดดังของจังหวัดยโสธรที่ควรค่าต่อการมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง
อ่านต่อ8 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดในภาคอีสานตอนล่างที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นจุดชมวิวอันน่าประทับใจ ไปจนถึงแหล่งโบราณสถานอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และวัดวาอารามที่สร้างขึ้นอย่างงดงามให้เที่ยวชม วันนี้ทาง Palanla ได้รวบรวม 8 สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดศรีเกษมาฝากทุกท่านกันในบทความนี้
อ่านต่อผามออีแดง จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
ผามออีแดง (Pha Mor E Daeng) เป็นหน้าผาที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นปราสาทเขาพระวิหาร ป่าไม้ และบ้านเมืองของกัมพูชาที่อยู่ไกลออกไปได้ ในยามเช้าของช่วงปลายฝนต้นหนาวจะเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยงาม ส่วนในยามพระอาทิตย์ตกดินจะมองเห็นฝูงค้างคาวบินออกมาจากถ้ำเพื่อหากิน นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ของผามออีแดงคือภาพจิตรกรรมโบราณที่ถูกสลักไว้ริมหน้าผาซึ่งมีความเก่าแก่กว่าหนึ่งพันห้าร้อยปีทีเดียว ถือเป็น Unseen Thailand ที่คุ้มค่าต่อการมาเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง
อ่านต่อน้ำตกสำโรงเกียรติ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
น้ำตกสำโรงเกียรติ (Samrong Kiat Waterfall) เป็นน้ำตกที่มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด น้ำตกแห่งนี้มีเอกลักษณ์ตรงที่บริเวณด้านบนหน้าผาจะมีแอ่งลานหินขนาดใหญ่รองรับธารน้ำเอาไว้ก่อนที่จะไหลตกลงมาตามชั้นหน้าผา น้ำตกสำโรงเกียรติมีน้ำไหลตลอดปี และจะมีน้ำมากที่สุดในช่วงฤดูฝน บรรยากาศโดยรอบมีความร่มรื่นจากป่าไม้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะกับการมาเล่นน้ำ นั่งพักผ่อนหย่อนใจ และถ่ายภาพสวยๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน
อ่านต่อเกาะกลางน้ำ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย
เกาะกลางน้ำ (Koh Klang Nam) เป็นเกาะที่อยู่ใจกลางอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บนเกาะแห่งนี้เป็นสวนสาธาณะขนาดใหญ่และเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น หอศรีลำดวนเฉลิมพระเกียรติที่เป็นหอชมเมืองศรีสะเกษได้รอบทิศ และศรีสะเกษอควาเรียมซึ่งเป็นศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นี่จึงเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของจังหวัดศรีสะเกษอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก
อ่านต่อ