ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

  • อ่าน (11,138)
  • ByWebmaster
  • 09:46:48 | 25 พ.ย. 2563

ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

Panom Rung Historical Park, Buriram, Thailand

             ปราสาทพนมรุ้ง (Panom Rung Historical Park) เป็นปราสาทหินเก่าแก่ศิลปะขอมที่มีอายุผ่านกาลเวลามาร่วมพันปี จากการรังสรรค์ด้วยภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่ถ่ายทอดความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ผ่านลายสลักบนหินนับร้อยนับพันก้อนอย่างวิจิตรงดงาม จนเกิดเป็นเทวสถานอันยิ่งใหญ่บนยอดภูเขาไฟสูงที่ดับสนิทแล้วหนึ่งในหกลูกสำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์


ประวัติ

             ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปราสาทหินเก่าแก่ที่มีอายุร่วมพันปีที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาไฟเก่าเมื่อหลายแสนปีก่อนแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแสนยิ่งใหญ่ และเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าประเทศไทยเคยมีเป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟมาก่อนทั้งยังเป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในบุรีรัมย์อีกด้วย พื้นที่ภูเขาไฟในอดีตบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงทำให้มีกลุ่มชนหลายชุมชนมาตั้งถิ่นฐานและกลายเป็นชุมชนใหญ่ในที่สุด

             สันนิษฐานว่าปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 โดยพระเจ้านเรนราทิตย์ ซึ่งเป็นญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ทรงสร้างนครวัด ในประเทศกัมพูชา โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีนั้น นักวิชาการได้ลงความเห็นว่าปราสาทพนมรุ้งไม่ใช่ที่พักของกษัตริย์ แต่เป็นศาสนสถานที่มีการใช้อย่างต่อเนื่อง ผู้ที่อยู่ที่นี่ต้องเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า โดยในจารึกได้บรรยายว่ามีนักพรตโยคีมาบำเพ็ญพรตที่ปราสาทแห่งนี้

             สิ่งหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งเมื่อเอ่ยถึงปราสาทพนมรุ้งนั่นก็คือ "ทับหลังนารายณ์” โดยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ปราสาทเขาพนมรุ้งแห่งนี้ เป็นทับหลังที่ถูกขโมยไปแล้วถูกนำกลับมาประดับไว้ที่เดิม หากสังเกตด้านบนของทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ สลักเป็นรูปศิวนาฎราช-พระศิวะร่ายรำ อีกทั้งจารึกที่ปราสาทยังบรรยายว่าได้มีสร้างรูปพระนารายณ์ไว้ในเรือนหรือปราสาทของพระศิวะ ด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเชิดชูพระศิวะเหนือพระนารายณ์ที่เป็นตัวแทนของลัทธิไวษณพนิกายนั่นเอง

             ส่วนทวารบาลที่ปราสาทพนมรุ้งนั้น เป็นเพียงทวารจำลองโดยของจริงได้ถูกเก็บรักษาไว้ ตามความเชื่อคือทวารบาลมีหน้าที่เฝ้าศาสนสถานมิให้สิ่งชั่วร้ายทั้งหลายผ่านเข้าสู่ศาสนสถานได้ มีสองแบบคือแบบนั่งกับยืน

             นอกจากความงดงาม และยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมแล้ว ความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของปราสาทศิลปะแบบขอมแห่งนี้ก็คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน โดยในหนึ่งปีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือในวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายนของทุกปีดวงอาทิตย์จะขึ้น ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน และในวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็จะตก ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน

             ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างอันน่าทึ่งของคนสมัยก่อน โดยมีความเชื่อกันว่าปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ศักดิ์สิทธิ์ การรับแสงอาทิตย์ที่สอดส่องผ่านช่องประตู และแสงอาทิตย์ที่ไปต้องกับศิวลึงค์ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศิวะที่ตั้งอยู่กลางปราสาทเขาพนมรุ้งนั้น เป็นการเสริมพลังชีวิตและเป็นสิ่งมงคลแก่ตนเองและครอบครัวของผู้ที่ได้ชม


แสงอาทิตย์สอดส่องผ่านช่องประตูที่ปราสาทพนมรุ้ง


ประติมากรรมสิงห์คู่นั่ง ลักษณะเดียวกันกับสิงห์คู่ที่อยู่ทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร


ประติมากรรมรูปทวารบาล


บางส่วนของปราสาทหินเก่าแก่ที่มีอายุร่วมพันปี


นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมปราสาทพนมรุ้ง


การเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์

             - เครื่องบิน (Flight) การเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ไปสนามบินจังหวัดบุรีรัมย์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 55 นาที  

             - รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดบุรีรัมย์ มีระยะทาง 400 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง   

             - รถไฟ (Train) การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้เวลาเร็วสุดประมาณ 6ชั่วโมง ทั้งนี้อาจใช้เวลานานกว่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทของรถไฟ


การเดินทางไปปราสาทพนมรุ้ง

             ปราสาทพนมรุ้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 1 ชั่วโมง หากไม่ได้เดินทางโดยรถส่วนตัว จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์สามารถนั่งรถสายบุรีรัมย์ – นางรอง ไปลงที่สถานีนางรองแล้วต่อรถสองแถวไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือนั่งรถโดยสารสายบุรีรัมย์ - จันทบุรี ไปลงที่หมู่บ้านตะโก แล้วต่อรถสองแถวหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง


เวลาทำการเปิด
– ปิด

             เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00 -18.00 น.


ภาพซ้ายคือรูปปั้นศิวลึงค์ประดิษฐานภายในห้องครรภคฤหะ ขวาคือรูปปั้นโคนนทิ พาหนะของพระศิวะ 


อัตราค่าเข้าชม

             ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท  


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้ง

             ชมความงามและความอัศจรรย์ของสถาปัตยกรรมศิลปะแบบขอมโบราณ และชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูที่ปราสาทพนมรุ้ง


นักท่องเที่ยวเฝ้ารอชมปรากฏการณ์พระอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูที่ปราสาทพนมรุ้ง 


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้หากต้องการชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน หนึ่งปีจะมีเพียง 4 ครั้งเท่านั้น คือในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน และ 8-10 กันยายน (ชมดวงอาทิตย์ขึ้น) และในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม และ 6-8 ตุลาคม (ชมดวงอาทิตย์ตก)   


             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม ปราสาทพนมรุ้ง สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

                         (Panom Rung Historical Park, Buriram, Thailand)

                         ระดับความนิยม : 

                         อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท      

                         เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00 - 18.00 น.

                         ตั้งอยู่ที่ : อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

                         โทรศัพท์ : (+66) 0 4466 6251     

                         เว็บไซต์ : http://virtualhistoricalpark.finearts.go.th/phanomrung/index.php/th

                         ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com/

                                         ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ https://buriram.mots.go.th

                                         ศูนย์ข้อมูลการเดินทางจังหวัดบุรีรัมย์ http://www.buriram.go.th/visitdata/tran.htm

                                         ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ