อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (4,809)
  • ByWebmaster
  • 17:19:13 | 29 ก.ย. 2563

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Democracy Monument, Bangkok, Thailand

 

             หนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนถนนราชดำเนินกลางคงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของคนไทยที่ตั้งตระง่านอยู่บนถนนสายนี้มานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483

 


ประวัติ

             อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางวนเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข  อนุสาวรีย์แห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2483 สมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

             อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อสร้างและออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล และควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสิทธิเดช แสงหิรัญเป็นศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์ การออกแบบนั้นได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสานเข้ากับความเป็นสากลได้อย่างงดงามลงตัว

             และไม่เพียงแต่ความงดงามด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่องค์ประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล้วนมีความหมายที่เป็นนัยยะสำคัญแฝงไว้อย่างแยบยล โดยปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ซึ่งมีความสูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากนี้บริเวณปีกทั้ง 4 ด้าน ยังประกอบไปด้วยลายปั้นนูนที่บ่งบอกถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎร ตั้งแต่การนัดหมาย แยกย้าย ตลอดจนถึงก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

             อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีความโดดเด่นสะดุดตาด้วยประติมากรรมลอยตัว ซึ่งประกอบด้วยรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้าที่สร้างด้วยทองแดง ความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน สื่อความหมายถึง เดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ในขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) และยังหมายถึงอำนาจอธิปไตยทั้งสามภายใต้รัฐธรรมนูญ อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการด้วย

             รอบๆ ลานอนุสาวรีย์ยกสูงมีบันไดโดยรอบ โดยรอบนอกลานอนุสาวรีย์จะมีครีบทรงแบนอยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบมีภาพแกะสลักลายปั้นนูน และมีรั้วขนาดต่ำกั้นรอบลานอนุสาวรีย์ โดยรั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอกฝังดินโดยโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมา สื่อความหมายถึง ปี 75 (2475) ที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง

             สำหรับพระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ใช้ในการบริหารประเทศ ประกอบด้วย เอกราช ความปลอดภัย เสรีภาพ ความเสมอภาค การศึกษา และเศรษฐกิจ ส่วนบริเวณรอบฐานของอนุสาวรีย์ซึ่งมีโซ่เหล็กคล้องเชื่อมต่อกัน เว้นไว้เฉพาะทางขึ้นและทางลงหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ

             อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของการเรียกร้องที่มีมาตลอดหลายยุคหลายสมัย และไม่เพียงแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศเท่านั้น ทว่าความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออนุสาวรีย์ฯ คือยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงสายต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย  

 
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถือเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงสายต่าง ๆ ในประเทศไทย

 
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของการเรียกร้องที่มีมาตลอดหลายยุคหลายสมัย


การเดินทางไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

             รถโดยสารประจำทางสาย 2, 15, 44, 47, 59, 60, 70, 79, 157,171, 183, 201, 503, 509, 511, 556 

             เรือด่วนคลองแสนแสบ ลงท่าผ่านฟ้าลีลาศ


เวลาทำการเปิด – ปิด

             เปิด 24 ชั่วโมง


อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม

 
ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ฯ ประกอบไปด้วยลายปั้นนูนที่บ่งบอกถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎร ตั้งแต่การนัดหมาย แยกย้าย ตลอดจนถึงก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

             สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือลองสังเกตพินิจดูถึงรายละเอียดต่างๆ ของประติมากรรมที่ล้วนสร้างขึ้นอย่างมีความหมายนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจำนวน ความกว้าง ความยาว รายละเอียดต่างๆ ของอนุสาวรีย์แห่งนี้

 
บริเวณรอบฐานของอนุสาวรีย์มีโซ่เหล็กคล้องเชื่อมต่อกัน เว้นไว้เฉพาะทางขึ้นและทางลงเท่านั้น สื่อความหมายถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะปฏิวัติ


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี


ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้

             บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังมีร้านอาหารอร่อยๆ  คาเฟ่ รวมถึงย่านชุมชนเก่าแก่ของเขตพระนครให้ได้เดินเล่นชมอาคารบ้านเรือน และชีวิตผู้คนเพื่อซึมซับกับย่านประวัติศาสตร์เก่าแก่นี้ที่มีมายาวนาน 

 


             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                         (Democracy Monument, Bangkok, Thailand)

                         ระดับความนิยม : 

                         อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม    

                         เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิด 24 ชั่วโมง

                         ตั้งอยู่ที่ : ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  

                         โทรศัพท์ : -                                  

                         เว็บไซต์ : -

                         ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com/

                                        ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/2HIt51t

                                        ศูนย์ข้อมูลการเดินทางกรุงเทพมหานคร https://www.transitbangkok.com/th/

                                        ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ