สะพานพุทธยอดฟ้า จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (9,770)
  • ByWebmaster
  • 13:45:19 | 19 เม.ย. 2562

สะพานพุทธยอดฟ้า จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Phra Phuttha Yodfa Bridge, Bangkok, Thailand


สะพานพุทธยอดฟ้า

             สะพานพุทธยอดฟ้า (Phra Phuttha Yodfa Bridge) หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (Memorial Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมระหว่างปลายถนนตรีเพชร เขตพระนคร และปลายถนนประชาธิปก เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร


แผนที่สะพานพุทธยอดฟ้า จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ประวัติ

             สะพานพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกัน เพื่อขยายพระนครและทำให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น


พระบรมราชานุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ บริเวณเชิงสะพานพุทธยอดฟ้า

           กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ออกแบบโครงสร้างสะพาน ก่อสร้างโดยบริษัทดอร์แมน ลอง (Dorman Long) ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2472 โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ปัจจุบันสะพานแห่งนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท

การเดินทางไปสะพานพุทธยอดฟ้า

             - เรือ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเรือมาลงที่ท่าเรือสะพานพุทธ จากนั้นเดินมายังเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ระยะทางประมาณ 100 เมตร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที

             - รถประจำทาง มีรถประจำทางที่ผ่านสะพานพุทธยอดฟ้า คือ รถประจำทางสาย 3, 5, 6, 8, 9, 10, 43, 53, 73

             - รถแท็กซี่ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถแท็กซี่หรือรถสามล้อได้ ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง

เวลาทำการเปิด – ปิด

           เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง


การซื้อบัตรเข้าชม

           ไม่เสียค่าเข้าชม

 

จุดท่องเที่ยวที่สำคัญของสะพานพุทธยอดฟ้า

             สะพานพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร สูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร เปิดช่องกว้าง 60 เมตร เพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก


โครงสร้างสะพานสร้างเป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร

           บริเวณเชิงสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สร้างโดยศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่อยู่เหนือพระเพลา สูง 4.60 เมตร ต่อมา ได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่อ


จารึกระบุข้อมูลประวัติความเป็นมาของสะพานและพระบรมรูป


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

           ตลอดทั้งปี


บริเวณเชิงสะพานพุทธยอดฟ้า ยังเป็นสถานที่ประชาชนนิยมเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ

ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้

           บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไปจนถึงสะพานพระปกเกล้าที่ตั้งอยู่ขนานกันทางฝั่งพระนคร มีตลาดกลางคืน สะพานพุทธ เปิดในวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 20.00 - 01.00 น. เป็นแหล่งรวมร้านค้าทั้งอาหาร สินค้าแฟชั่น และงานศิลปะ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ เลือกซื้อสินค้าและชมทิวทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลากลางคืน 


           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม สะพานพุทธยอดฟ้า สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       สะพานพุทธยอดฟ้า จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                       (Phra Phuttha Yodfa Bridge, Bangkok, Thailand)

                       ระดับความนิยม : 

                       อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                       เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

                       ตั้งอยู่ที่ : ถนนตรีเพชร เขตพระนคร และถนนประชาธิปก เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ :  -

                       เว็บไซต์ : https://bit.ly/2YJyn1E

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                       ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/2HIt51t

                                       ศูนย์ข้อมูลการเดินทางกรุงเทพมหานคร https://www.transitbangkok.com/th/

                                       ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ