วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (7,162)
  • ByWebmaster
  • 16:56:22 | 18 เม.ย. 2562

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Traimit Witthayaram Worawihan Temple, Bangkok, Thailand


วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร 

             วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร (Traimit Witthayaram Worawihan Temple) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์สมัยสุโขทัย พระนามว่า “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” มีนามซึ่งปรากฏตามพระราชทินนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” 


แผนที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย


ประวัติ

             วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นวัดโบราณที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ ซึ่งมีที่มาจากชาวจีน 3 คนช่วยกันก่อสร้าง แต่เดิมมี 3 วัด ได้แก่ วัดสังเวชวิศยาราม (วัดสามจีนเหนือ), วัดโชติการาม (วัดพระยาไกร) และวัดไตรมิตรวิทยาราม (วัดสามจีนใต้)


ป้ายชื่อและตราประจำวัดเป็นภาพเทวดา 3 องค์ นั่งประชุมกันบนบัลลังก์เมฆ

           เนื่องจากวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม น้ำขังได้ทั่วไป จึงมีการปรับปรุงพื้นที่ของวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม” เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482


การบูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กป้องกันน้ำท่วมขัง


การเดินทางไป
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

             - รถไฟฟ้าใต้ดิน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT หัวลำโพง เดินมาวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ระยะทางประมาณ 350 เมตร ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

             - รถประจำทาง มีรถประจำทางที่ผ่านวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร คือ สาย 4, 53, 5, 73 หรือ 507

             - รถแท็กซี่ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถแท็กซี่ และรถสามล้อได้ ราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง


เวลาทำการเปิด
– ปิด

           ทุกวัน เวลา 05.00 - 23.00 น.


การซื้อบัตรเข้าชม

           ไม่เสียค่าเข้าชม


จุดท่องเที่ยวที่สำคัญของ
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

             วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา พระอุโบสถหลังเดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงเป็นแบบไทยผสมศิลปะจีน หลังคาลดสามชั้นมีเสาหารโดยรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ ต่อมา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงสั่นสะเทือนของระเบิดทำให้พระอุโบสถเสียหายยากต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงได้ทำการรื้อลงเมื่อ พ.ศ. 2493 หลังจากที่ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่


พระอุโบสถหลังใหม่

           จุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวัดแห่งนี้ คือ พุทธสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า “พระมหามณฑป” ที่มีความงดงาม


พระมหามณฑป

           นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ซึ่งเป็น “พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” โดย Guinness Book of World Records ฉบับปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ได้ประเมินอย่างเป็นทางการไว้ว่า มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง 21.1 ล้านปอนด์ 


พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

           แต่เดิมพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยารามถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์ จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า เคยประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโชตินาราม หรือวัดพระยาไกร มาตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

           เมื่อวัดไตรมิตรวิทยารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ จึงมีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ในขณะทำการยกนั้น ปรากฏว่า ลวดสลิงที่ยึดองค์พระขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกบนพื้น ท่านเจ้าอาวาส ได้มาตรวจดูองค์พระ จึงพบว่า มีเนื้อทองคำบริสุทธิ์อยู่ชั้นใน 


ด้านหลังพระพุทธรูปทองคำ


พระคาถาบูชาองค์พระ


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

           ตลอดทั้งปี


ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้

           วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารเป็นศาสนสถาน ผู้เข้าชมควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากสวมกระโปรง ไม่ควรสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า และสำรวมกิริยามารยาทเมื่อเข้าภายในวัด


ป้ายแสดงกฎระเบียบในการเข้าชมวัด


           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                       (Traimit Witthayaram Worawihan Temple, Bangkok, Thailand)

                       ระดับความนิยม : 

                       อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                       เวลาเปิด – ปิด : ทุกวัน เวลา 05.00 – 23.00 น.

                       ตั้งอยู่ที่ : ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)089-002-2700

                       เว็บไซต์ : https://bit.ly/2UhoCsp

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                       ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/2HIt51t

                                       ศูนย์ข้อมูลการเดินทางกรุงเทพมหานคร https://www.transitbangkok.com/th/

                                       ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ