วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (7,676)
  • ByWebmaster
  • 16:11:59 | 23 ก.พ. 2561

วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Wat Arun Ratchawararam Ratchawaramahawihan, Bangkok, Thailand


พระปรางค์วัดอรุณที่สูงเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา

           วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีจุดท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร คือพระปรางค์สีขาวซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร



ประวัติความเป็นมาของวัดอรุณ


พระอุโบสถของวัดอรุณ

           วัดอรุณในอดีตมาชื่อว่า “วัดมะกอกนอก” และในสมัยของพระเจ้าตากสิน มีการเปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้เป็น “วัดแจ้ง” เนื่องจากพระเจ้าตากสินได้ยกทัพกลับมาจากการออกศึกสงครามและเดินทางมาถึงบริเวณวัดอรุณฯ ในยามรุ่งแจ้ง จนล่วงมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ได้ทรงทำการบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัด แต่แล้วได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่การบูรณะจะสำเร็จ จากนั้นรัชกาลที่ 2 จึงได้เข้ามาสานต่อการบูรณะจนสมบูรณ์ และทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 และมีการเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น "วัดอรุณราชธาราม"


บรรยากาศอันสวยงามภายในวัดอรุณ

           จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะวัดอรุณฯ ครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อวัดอีกครั้งเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งใช้มาจนถึงในปัจจุบันนี้

พระพุทธรูปประจำวัดอรุณฯ


พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถวัดอรุณ

           พระประธานในอุโบสถวัดอรุณฯ มีนามว่า พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยศิลปะยุครัตนโกสินทร์ มีความเชื่อกันว่าหุ่นพระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้ปั้นโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ส่วนพระวรกายปั้นโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และที่ฐานของพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย

การเดินทางไปยังวัดอรุณ

           รถประจำทาง สาย 1, 3, 4, 6, 9, 12, 25, 32, 44, 47, 48, 53 และ 82 โดยลงรถบริเวณท่าเตียน จากนั้นขึ้นเรือข้ามฟากมายังท่าวัดอรุณ

           เรือด่วนเจ้าพระยา ลงเรือที่ท่าเตียน จากนั้นขึ้นเรือข้ามฟากมายังท่าวัดอรุณ ค่าโดยสารเรือด่วนเริ่มต้นที่ 15 บาท และค่าเรือข้ามฟาก 3.50 บาท

           รถแท็กซี่ เป็นการเดินทางที่สะดวกสบายและได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 บาท และเพิ่มค่าโดยสารกิโลเมตรละ 5.50 บาทในระยะ 1-10 กิโลเมตรแรก สามารถดูรายละเอียดอัตราค่าบริการเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2laovLG

เวลาในการเปิด-ปิดทำการ

           บริเวณพระปรางค์ เปิดตั้งแต่ 08.00 – 18.00 สำหรับเวลาเปิดปิดของจุดอื่นๆสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watarun.org/


ความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณในยามค่ำคืน

การซื้อบัตรเข้าชม

           - คนไทย สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

           - ชาวต่างชาติ คนละ 50 บาท


พระพุทธรูปจำนวนมากที่ประดิษฐานอยู่รอบพระอุโบสถวัดอรุณ


ยักษ์วัดแจ้งยืนจังก้า

จุดท่องเที่ยวสำคัญบริเวณวัดอรุณ


พระปรางค์วัดอรุณ


แผนผังของวัดอรุณฯ มองจากมุมสูง

           - พระปรางค์ องค์พระปรางค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยอยุธยา และมีความสูงประมาณ 16 เมตรเท่านั้น แต่เมื่อมีการบูรณะวัดครั้งใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการต่อเติมองค์พระปรางค์ให้มีความสูงขึ้นถึง 81.85 เมตร โดยองค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุและเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า ถัดไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

           - วิหารน้อย มีการสันนิษฐานว่าวิหารน้อยถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยในสมัยอยุธยา โดยในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณีเจดีย์” เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม

           - โบสถ์น้อย เป็นพระอุโบสถหลังเก่าของวัดอรุณฯ ภายในประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทางด้านซ้ายของบรมรูปหล่อ เป็นที่ตั้งของศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ ตรงข้ามของพระบรมรูปหล่อฯ เป็น “พระแท่นบรรทม” ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมาประทับในปลายรัชกาล ส่วนด้านหลังของพระบรมรูปฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อรุ่งมงคล”


พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ที่ประดิษฐานภายในบริเวณวัดอรุณราชวราราม

           - พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากวัดอรุณราชวรารามจะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 แล้ว ภายในวัดยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสวนหย่อมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระปรางค์โดยผินพระพักตร์สู่แม่น้ำเจ้าพระยา พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 เนื่องในมหามงคลวโรกาสแห่งราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปีพ.ศ. 2539 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ตั้งแต่พระองค์ยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ด้วยทรงผูกพันและศรัทธาในวัดอรุณฯ มาก

           พระบรมรูปหล่อด้วยโลหะสำริด ความสูงจากพระเศียรถึงพระบาท 187 เซนติเมตร สวมเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงกระบี่เศียรนาค ฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนอยู่บนแท่นฐานหินอ่อนสามชั้น สูงจากพื้นดินราว 3 เมตร 20 เซนติเมตร มีช้างเผือกสามเชือกเป็นบริวาร หล่อด้วยโลหะผสมรมดำอยู่บนแท่นหินอ่อน ส่วนด้านหลังฐานพระบรมราชานุสาวรีย์มีแผ่นจารึกคำสดุดีพระเกียตริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว


ทัศนยีภาพอันงดงามของวัดอรุณฯ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

           นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยือนวัดอรุณฯได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้อาจหลีกเลี่ยงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดสุดสัปดาห์ เนื่องจากจะมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

           นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวได้ที่ https://www.accuweather.com/

การแต่งกาย

           นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ สวมเสื้อมีแขน สวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป


           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยววัดอรุณฯ สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                       (Wat Arun Ratchawararam Ratchawaramahawihan, Bangkok, Thailand)

                       ระดับความนิยม : 

                       อัตราค่าเข้าชม : คนไทยเข้าชมฟรี และ 50 บาทสำหรับชาวต่างชาติ

                       เวลาเปิด-ปิด : บริเวณพระปรางค์ เปิดตั้งแต่ 08.00 – 18.00

                                   เวลาเปิดปิดของจุดอื่นๆสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ http://www.watarun.org/

                       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                       สถานที่ตั้ง : แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)2-8912185

                       เว็บไซต์ : http://www.watarun.org/

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/home

                                       เว็บไซต์กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://www.bangkoktourist.com/

                                       เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบสภาพอากาศ https://www.accuweather.com/

 

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ