วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (11,875)
  • ByWebmaster
  • 15:46:07 | 23 ก.พ. 2561

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Wat Rakhangkhositraram Woramahavihara, Bangkok, Thailand


พระอุโบสถหลังเก่าของวัดระฆังที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

           วัดระฆัง เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร



ประวัติความเป็นมาของวัดระฆัง


ระฆังรูปแบบต่างๆที่วางประดับอยู่ภายในวัดระฆัง

           วัดระฆังในอดีตมีชื่อว่า “วัดบางหว้าใหญ่” โดยในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สร้างพระราชวังขึ้นใกล้กับวัดแห่งนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบางหว้าใหญ่ และยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง และในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช และใช้เป็นสถานที่ในการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช


บริเวณทางเข้าวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร 

           ที่มาของชื่อ “วัดระฆัง” มาจากในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกขึ้นทดแทน จึงกลายเป็นที่มาของวัดจนถึงในปัจจุบัน

พระพุทธรูปประจำวัดระฆัง


พระประธานยิ้มรับฟ้า พระประธานภายในอุโบสถวัดระฆัง

           พระประธานของวัดระฆังมีนามว่า “พระประธานยิ้มรับฟ้า” เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท ที่มาของชื่อ”ยิ้มรับฟ้า” มาจากในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดแห่งนี้ และได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” ทำให้พระประธานองค์นี้ได้ชื่อว่า” พระประธานยิ้มรับฟ้า” ตั้งแต่นั้นมา

การเดินทางไปยังวัดระฆัง

           รถประจำทาง สาย 57, 146 และ 177

           เรือด่วนเจ้าพระยา ลงเรือที่ท่าช้าง จากนั้นขึ้นเรือข้ามฟากมายังท่าวัดระฆัง ค่าโดยสารเรือด่วนเริ่มต้นที่ 15 บาท และค่าเรือข้ามฟาก 3.50 บาท

           รถแท็กซี่ เป็นการเดินทางที่สะดวกสบายและได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 บาท และเพิ่มค่าโดยสารกิโลเมตรละ 5.50 บาทในระยะ 1-10 กิโลเมตรแรก สามารถดูรายละเอียดอัตราค่าบริการเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2laovLG

เวลาในการเปิด-ปิดทำการ

           วัดระฆังเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 8.00-17.00 น.


นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติบริเวณหน้าประตูวัด


รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" วัดระฆัง

การซื้อบัตรเข้าชม

           ไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


พุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนมากที่เข้ามากราบไหว้ทำบุญภายในวัด

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว


บรรยากาศภายในวัดระฆัง

           นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยววัดระฆังได้ตลอดทั้งปี

           นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวได้ที่ https://www.accuweather.com/

การแต่งกาย

           นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ สวมเสื้อมีแขน สวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป


           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยว วัดระฆัง สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                       (Wat Rakhangkhositraram Woramahavihara, Bangkok, Thailand)

                       ระดับความนิยม

                       อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

                       เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 8.00-17.00 น.

                       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                       สถานที่ตั้ง : แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)2-4181079

                       เว็บไซต์ : http://www.watrakang.com/

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/home

                                       เว็บไซต์กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://www.bangkoktourist.com/

                                       เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบสภาพอากาศ https://www.accuweather.com/

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ