วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (8,243)
  • ByWebmaster
  • 14:08:47 | 23 ก.พ. 2561

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Wat Benchamabophit Dusitvanaram, Bangkok, Thailand


บริเวณหน้าพระอุโบสถวัดเบญฯ ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

           วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากความงดงามของพระอุโบสถที่สร้างด้วยหินอ่อน ผสมผสานกับรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยที่ลงตัว ตั้งอยู่ที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร



ประวัติความเป็นมาของวัดเบญจมบพิตร


ความงามของสถาปัตยกรรมที่ใช้ก่อสร้างวัดเบญฯที่สามารถสัมผัสได้จากทุกมุมรอบพระอุโบสถ

           ในอดีต วัดเบญฯ มีชื่อว่า”วัดแหลม” ซึ่งเป็นวัดของราษฏรทั่วไป แต่เมื่อมีเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ทรงเป็นแม่ทัพรักษาพระนคร โดยทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลมแห่งนี้


พระพุทธรูปจำนวนหนึ่งที่ประดิษฐานอยู่รอบพระอุโบสถ

           ภายหลังจากการปราบกบฏเสร็จสิ้น กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ มีความประสงค์ร่วมกันที่จะบูรณปฏิสังขรณ์วัดแหลม และเมื่อการบูรณะเสร็จสิ้น วัดแหลมจึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งหมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์

พระพุทธรูปประจำวัดเบญจมบพิตร


พระพุทธชินราชจำลองสีทองอร่ามภายในพระอุโบสถ

           พระประธานของวัดเบญฯ คือ “พระพุทธชินราชจำลอง” โดยในคราวแรก หลังจากที่มีการสถาปนาวัดเบญฯ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

           แต่ด้วยเหตุที่พระพุทธชินราชไม่เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใดเลย และทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศก จึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นแทน โดยมีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้น ณ โพธิ์สามเส้า ซึ่งก็คือบริเวณเดิมที่มีการหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาขึ้น หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) ลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตร

การเดินทางไปยังวัดเบญจมบพิตร

           - รถประจำทาง สาย 5, 72 และ 503

           - รถแท็กซี่ เป็นการเดินทางที่สะดวกสบายและได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 บาท และเพิ่มค่าโดยสารกิโลเมตรละ 5.50 บาทในระยะ 1-10 กิโลเมตรแรก สามารถดูรายละเอียดอัตราค่าบริการเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2laovLG

เวลาในการเปิด-ปิดทำการ

           วัดเบญจมบพิตร เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 8.30-17.30 น.


ความร่มรื่นทั้งจากสายน้ำและพรรณไม้มากมายในวัดเบญฯ

การซื้อบัตรเข้าชม

           - ชาวไทย สามารถเข้าชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

           - ชาวต่างชาติ คนละ 20 บาท


บริเวณประตูทางเข้าด้านหน้าของวัดเบญฯ

จุดท่องเที่ยวสำคัญบริเวณวัดเบญจมบพิตร


พระที่นั่งทรงธรรมที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามไม่แพ้พระอุโบสถ

           - พระที่นั่งทรงธรรม เป็นตึกสองชั้น พื้นชั้นล่างและบันไดปูหินอ่อน ชั้นบนปูไม้ หลังคา 2 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้าใบระกาลงรักปิดทองทึบ พระที่นั่งทรงธรรมนี้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับแรมเวลาทรงธรรมรักษาอุโบสถศีล ต่อมาได้ถูกใช้เป็นที่ประชุมสังฆมนตรี ที่ศึกษาพระปริยัติธรรม จัดงานประจำปีของวัด ตั้งพระศพและศพบุคคลสำคัญของชาติ


หอระฆังบวรวงศ์ที่ตั้งเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางสนามหญ้าภายในวัด

           - หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอระฆังทรงไทยประกอบหินอ่อน สร้างขึ้นโดยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายพระราชวังบวรและข้าราชการ ระฆังภายในหอนำมาจากวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล โดยชื่อ”หอระฆังบวรวงศ์” นั้นได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 5


พระที่นั่งทรงผนวชที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5

           - พระที่นั่งผนวช เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รื้อมาจากพระพุทธรัตนสถาน เป็นหมู่กุฏิประกอบด้วย "พระที่นั่งทรงผนวช" อยู่ด้านทิศเหนือ "พระกุฏิ" อยู่ด้านทิศใต้ กับกุฏิ 2ห้อง 2 หลัง อยู่ด้านตะวันออกและตะวันตก เก็บรวมรวมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเมื่อครั้งพระองค์ออกผนวช โดยจัดแสดงบางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว


ความสวยงามของอาคารและการประดับตกแต่งที่ปรากฏชัดอยู่ในทุกรายละเอียด

           นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยือนวัดเบญจมบพิตรได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้อาจหลีกเลี่ยงวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดสุดสัปดาห์ เนื่องจากจะมีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

           นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวได้ที่ https://www.accuweather.com/

การแต่งกาย

           นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ สวมเสื้อมีแขน สวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป

           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยว วัดเบญจมบพิตร สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       อัตราค่าเข้าชม : คนไทยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม และ 20 บาทสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

                       เวลาเปิด-ปิด : เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่ 8.30-17.30 น.

                       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                       สถานที่ตั้ง : แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)2-2822667

                       เว็บไซต์ : http://www.watbencha.com/

                       ระดับความนิยม

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/home

                                       เว็บไซต์กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://www.bangkoktourist.com/

                                       เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบสภาพอากาศ https://www.accuweather.com/

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ