วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (8,127)
  • ByWebmaster
  • 11:15:11 | 23 ก.พ. 2561

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Wat Pathum Wanaram Rajwaravihara, Bangkok Province, Thailand


พระอุโบสถวัดปทุมฯ เมื่อมองผ่านซุ้มประตูด้านหน้าเข้าไป

           วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางสยามสแควร์ ย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดลหลายพระองค์  ตั้งอยู่ที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร


ประวัติความเป็นมาของ
วัดปทุมฯ


ความสวยงามของพระอุโบสถที่ตัดกับบรรยากาศห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ใกล้เคียง

           วัดปทุมวนารามนั้นถูกสร้างขึ้นพร้อมกับวังสระปทุม ซึ่งมาจากแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ต้องการสร้างสถานที่ตากอากาศขึ้นในบริเวณนอกพระนครขึ้น โดยบริเวณของวัดปทุมวนารามในอดีตนั้นเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป


พระเจดีย์สีขาวบริสุทธิ์ที่ตั้งอยู่ใจกลางบริเวณวัด

           ระหว่างการก่อสร้างวัดและวัง ได้มีการขุดลอกสระ 2 สระเชื่อมต่อกัน สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน เป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์และฝ่ายใน ส่วนทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ทรงอนุญาตให้คนทั่วไปเข้ามาด้านในได้ และภายในสระทั้งสองนั้นก็ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ซึ่งบัวนานาพันธุ์เหล่านี้เป็นที่มาของชื่อวัด วัง และชื่อของย่าน”ปทุมวัน” ที่เรียกกันมาจนถึงในปัจจุบัน

พระพุทธรูปประจำวัดประทุม


พระเสริม และ พระแสน ประดิษฐานอยู่คู่กันในพระอุโบสถหลังแรก

           ภายในวัดปทุมวนารามมีอุโบสถ 2 หลัง โดยอุโบสถหลังแรกเป็นที่ประดิษฐานของ “พระเสริม” และ “พระแสน” โดยพระเสริมนั้นถูกอัญเชิญมาจากประเทศลาว ภายหลังจากที่กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง 3 พระองค์ เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น และถวายนามของพระองค์เองให้เป็นชื่อของพระพุทธรูป


พระสายน์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถหลังที่สอง

           ภายในอุโบสถหลังที่สอง เป็นที่ประดิษฐานของ “พระสายน์” ซึ่งถูกอัญเชิญมาจากถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับ”พระแสน”ในอุโบสถหลังแรก โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิในด้านการขอฝน เมื่อใดที่เกิดฝนแล้งขึ้น หากอัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสององค์ออกมากลางแจ้ง ก็จะสามารถบูชาขอฝนได้

การเดินทางไปยังวัดปทุมฯ

           - รถประจำทาง สาย 2, 15, 16, 25, 40, 45, 48, 54, 73, 79, 204, 79, ปอ.พ.1, 6, 23

           - รถไฟฟ้า BTS นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปที่วัดปทุมฯได้อย่างสะดวกสบายด้วยรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม ออกที่ทางออกหมายเลข 5

           - รถแท็กซี่ มีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 บาท และเพิ่มค่าโดยสารกิโลเมตรละ 5.50 บาทในระยะ 1-10 กิโลเมตรแรก สามารถดูรายละเอียดอัตราค่าบริการเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2laovLG

เวลาในการเปิด-ปิดทำการ

           วัดปทุมวนารามเปิดทำการทุกวัน ระหว่าง 07.00 -18.00 น.


ความงดงามของพระเจดีย์เมื่อมองจากด้านนอกวัด

การซื้อบัตรเข้าชม

           ไม่เสียค่าเข้าชมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ


ภาพอันแปลกตาของตึกสูงใหญ่ที่เป็นฉากหลังของวัดปทุม

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว


พระเจดีย์ พระอุโบสถ และสยามพารากอนที่เป็นฉากหลัง

           นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยือนวัดปทุมวนารามได้ตลอดทั้งปี บรรยากาศภายในวัดค่อนข้างสงบแม้จะเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็ตาม

           นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวได้ที่ https://www.accuweather.com/

การแต่งกาย

           นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ สวมเสื้อมีแขน สวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูปจนเกินไป

           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยว วัดปทุม สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

                       เวลาเปิด-ปิด : 07.00 -18.00 น.

                       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                       สถานที่ตั้ง : แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

                       โทรศัพท์ : (+66)2-2516469

                       เว็บไซต์ : http://www.watpathumwanaram.com/

                       ระดับความนิยม

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/home

                                       เว็บไซต์กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร https://www.bangkoktourist.com/

                                       เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบสภาพอากาศ https://www.accuweather.com/

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ