พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

  • อ่าน (7,375)
  • ByWebmaster
  • 17:02:03 | 14 มี.ค. 2561

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

Chaosamphraya National Musuem, Ayutthaya, Thailand


บริเวณทางเข้าอาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุ พระพุทธรูป และสิ่งล้ำค่าอื่นๆที่มาจากการขุดค้นและบูรณะโบราณสถานต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยกรมศิลปากร โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่นพระแสงดาบทองคำ เศียรพระพุทธรูปสำริด พระสถูปทองคำ และพระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ประวัติความเป็นมาของ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา


พระพุทธรูปในสมัยอยุธยาที่ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์

           ในปี พ.ศ. 2499-2500 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้พบโบราณวัตถุศิลปวัตถุจำนวนมาก เช่น เครื่องทองคำ พระพุทธรูป พระพิมพ์ โดยเฉพาะบริเวณกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชปรารภกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นว่า “ โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่” กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้น เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาโบราณวัตถุอันล้ำค่าที่ค้นพบเอาไว้


พื้นที่การจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ประกอบไปด้วยอาคาร 3 แห่ง ได้แก่

             - อาคารแห่งแรก (ตึกเจ้าสามพระยา) จัดแสดงโบราณศิลปวัตถุที่ค้นพบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่างพ.ศ. 2499-2500 พระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงคือ พระพุทธรูปศิลาขาวปางประทานเทศนาประทับนั่งห้อยพระบาท สมัยทรวารวดี และพระพุทธรูปปางมารวิชัยสำริดสมัยสุโขทัย

             - อาคารแห่งที่ 2 จัดแสดงโบราณศิลปวัตถุที่พบในประเทศไทยตามลำดับอายุ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง เช่น พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือพนัสบดี พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

             - อาคารแห่งที่ 3 เป็นหมู่เรือนไทยแบบภาคกลางตั้งอยู่กลางน้ำ ภายในเรือนไทยจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยในสมัยก่อน เช่น เตาเชิงกราน หม้อดินเผาสำหรับหุงต้ม กระต่ายขูดมะพร้าวและเครื่องจักสานต่างๆ ได้แก่ ตะกร้า กระจาด และเครื่องจับสัตว์น้ำ


การเดินทางไปจังหวัดอยุธยาจากกรุงเทพฯ

              รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้

                            ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ขับผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                            ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบเส้นทางที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้จากแอปพลิเคชัน Google Map

             รถตู้ นักท่องเที่ยวสามรถขึ้นรถตู้กรุงเทพ-อยุธยาได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต หรือบริเวณห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 60 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและจุดขึ้นลงรถ

             - รถไฟ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถไฟที่วิ่งเส้นทางสายเหนือจากสถานีหัวลำโพง ลงที่สถานีพระนครศรีอยุธยา โดยมีขบวนรถไฟให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.20 – 22.45 น. ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาทสำหรับรถไฟชั้น 3 นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยที่เบอร์ 1690 หรือ www.railway.co.th


การเดินทางไปยัง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา


             
รถยนต์ส่วนตัว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนปรีดีพนมยงค์ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบเส้นทางที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้จากแอปพลิเคชัน Google Map

             รถตุ๊กตุ๊ก ภายในตัวเมืองอยุธยามีรถตุ๊กตุ๊กให้บริการในอัตรา 20-40 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับระยะทาง สำหรับการเหมารถ ค่าเช่าตุ๊กตุ๊กต่อชั่วโมงจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 200 บาท

             - Grabcar พื้นที่จ.อยุธยามีระบบเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab โดยสามารถตรวจสอบอัตราค่าโดยสารแต่ละครั้งได้บนหน้าจอก่อนที่จะกดเรียกรถไปยังสถานที่ต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลดแอป Grab ได้ที่ http://grb.to/2F9a2bx


เวลาในการเปิด
-ปิดทำการ

           พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

พื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปที่ขุดพบในเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์


พื้นที่จัดแสดงพระพุทธรูปที่ขุดพบในเขตวิหารพระมงคลบพิตร


การซื้อบัตรเข้าชม

           ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท


หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่เคยอยู่หน้าพระอุโบสถและซุ้มพระคูหาวัดพระศรีสรรเพชญ์


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว


เศียรพระประธานวัดธรรมิกราชที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์

           นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาได้ตลอดทั้งปี

           นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการท่องเที่ยวได้ที่ https://www.accuweather.com/


ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้


พระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม

           พื้นที่ส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวไม่ควรถ่ายภาพโดยการใช้แฟลช ซึ่งจะเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่โบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่

           วัตถุโบราณบางส่วนจัดแสดงโดยไม่มีกระจกกั้น เปิดให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงามอย่างใกล้ชิด แต่นักท่องเที่ยวไม่ควรสัมผัส หรือกระทำสิ่งใดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัตถุโบราณนั้นๆ


           นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

                       (Chaosamphraya National Musuem, Ayutthaya, Thailand)

                       ระดับความนิยม 

                       อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท

                       เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.30 น.

                       ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยว : ตลอดทั้งปี

                       สถานที่ตั้ง : ตำบลประตูชัย อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

                       โทรศัพท์ : (+66)35-241587

                       เว็บไซต์ : http://www.thailandmuseum.com/chawsampraya/history.htm

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/home

                                       เว็บไซต์จังหวัดอยุธยา http://ww2.ayutthaya.go.th/frontpage

                                       เฟซบุ๊คการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำจังหวัดอยุธยา https://www.facebook.com/TatAyutthaya/

                                       เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบสภาพอากาศ https://www.accuweather.com/

 

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ