อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

  • อ่าน (9,893)
  • ByWebmaster
  • 13:17:23 | 26 มิ.ย. 2564

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

Victory Monument, Bangkok, Thailand

             อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (Victory Monument) นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีรถโดยสารให้บริการเป็นจำนวนมากในหลายเส้นทาง ทั้งรถประจำทาง รถไฟฟ้า และรถตู้ ผ่านตลอด 24 ชั่วโมง


ประวัติ

             อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งโดดเด่นอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ณ จุดที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเดินทางของเมืองหลวงก็ไม่ผิดนัก เนื่องจากไม่ว่ารถประจำทางสายใดๆ ก็จะต้องเวียนผ่านมายังที่นี่แทบทั้งสิ้น โดยรอบของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธินเคยมีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"

             อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 นาย พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

             การออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจ 5 ประการ ได้แก่

             1. ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 4

             2. ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ

             3. อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ

             4. เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ

             5. ความสนใจของประชาชน

             โดยหม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหารเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประ-สุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของศ.ศิลป์ พีระศรี

             ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้มีทั้งสิ้น 160 นาย เป็นทหารบก 94 นาย ทหารเรือ 41 นาย ทหารอากาศ 13 นาย และตำรวจสนาม 12 นาย จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่าง ๆ ตั้งแต่  พ.ศ. 2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย

             นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญแล้ว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน


อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส


ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธินเคยมีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"


การเดินทางไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

             อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท สามารถเดินทางไปได้สะดวกโดยรถประจำทางเกือบทุกสาย และสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงได้ที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


เวลาทำการเปิด-ปิด

             เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง


อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม


ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล


ห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิต


บรรยากาศการสัญจรรอบๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

             ชมความสวยงาม และรายละเอียดของประติมากรรมที่ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งสำคัญ 5 ประการ


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             ตลอดทั้งปี 


             นักท่องเที่ยวที่สนใจมาเที่ยว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

                         (Victory Monument, Bangkok, Thailand)

                         ระดับความนิยม : 

                         อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                         เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง

                         ตั้งอยู่ที่ : ถนนพหลโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร         

                         โทรศัพท์ : -

                         เว็บไซต์ : -

                         ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com/

                                         เว็บไซต์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ http://www.bmta.co.th/?q=home

                                         เว็บไซต์รถไฟฟ้าบีทีเอส https://www.bts.co.th

                                         เว็บไซต์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย https://www.mrta.co.th/th/

                                         เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร http://www.bangkok.go.th/main/index.php?l=th

                                         เว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org/Home

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ