สะพานรัษฎาภิเศก (สะพานขาว) จังหวัดลำปาง ประเทศไทย

  • อ่าน (6,966)
  • ByWebmaster
  • 15:21:25 | 26 มี.ค. 2564

สะพานรัษฎาภิเศก (สะพานขาว) จังหวัดลำปาง ประเทศไทย

Ratsadaphisek Bridge, Lampang Province, Thailand 

             สะพานรัษฎาภิเศก (Ratsadaphisek Bridge) หรือ “สะพานขาว” สะพานทรงสวยคลาสสิกแลนด์มาร์กของเมืองรถม้าที่กลายเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองที่ชาวลำปางคุ้นตา โดดเด่นด้วยเส้นโค้งทรงคันธนูรวม 4 โค้งทอดข้ามผ่านแม่น้ำวัง เป็นเส้นทางสัญจรผ่านไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำในเขตใจกลางเมืองลำปาง


ประวัติ

             สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา ในเขตตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง  เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวังที่สร้างมานานกว่า 100 ปี ชื่อของสะพานแห่งนี้ได้มาจากเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์   ผู้ครองนครเป็นผู้ตั้งจากชื่อพิธีเฉลิมฉลองรัษฎาภิเษก สมัยรัชกาลที่ 5 สะพานรัษฎาเป็นสะพานที่รอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาได้ด้วยการทาสีพรางตา และด้วยการอ้างของนางลูซี่ สตาร์ลิ่ง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น ว่าสะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

             ทว่าแม้จะรอดพ้นจากสงครามมาได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปสะพานไม้เสริมเหล็กเดิมก็เกิดการชำรุดผุพัง รัชกาลที่ 8 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรักษาสภาพคงทนถาวร จึงมีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2460  สะพานรัษฎาภิเศกมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกันเช่น “ขัวสี่โก๊ง”(สะพานสี่โค้ง) “ขัวหลวง” (สะพานใหญ่) และ “ขัวขาว” (สะพานขาว) นับเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนกว่าสะพานรุ่นเดียวกันที่ไม่เหลือให้เห็นแล้วในปัจจุบัน บริเวณหัวสะพานมีองค์ประกอบต่างๆ ที่สื่อความหมายสำคัญดังนี้

             เสาสี่ต้น ที่ตั้งอยู่หัวสะพานฝั่งละสองต้น หมายถึงความมั่นคงแข็งแรง

             ครุฑสีแดง ด้านหน้าของเสาทุกต้น เป็นตราสัญลักษณ์ของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 6

             พวงมาลัย ยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสา หมายถึง การรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

             ไก่หลวง หรือ ไก่ขาว ตรงกลางเสา เป็นสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง

             ปัจจุบันสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำร่วมรุ่นบนเส้นทางรถไฟสายเหนือล้วนผุพังลงหมด แต่สะพานรัษฎาภิเศกยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นสะพานที่สะท้อนถึงอารยธรรมสมัยขนส่งรถไฟหลวงและสินค้าก่อสร้างปูนซีเมนต์ไทยตามพระราชปรารภของรัชกาลที่ 6 ที่ยังคงอยู่ เรียกได้ว่านอกจากรถม้าและถ้วยตราไก่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปางแล้ว สะพานรัษฎาก็ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของลำปางที่ใครก็จะต้องไม่พลาดมาถ่ายรูป


สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำวังอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี


ชื่อของสะพานแห่งนี้ได้มาจากเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ซึ่งเป็นผู้ครองนคร


การเดินทางไปจังหวัดลำปาง

             - เครื่องบิน (Flight) การเดินทางโดยเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ไปสนามบินจังหวัดลำปางใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที

             - รถยนต์ (Car/ Bus) การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดลำปาง มีระยะทาง 600 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง 30 นาที   

             - รถไฟ (Train) การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดลำปาง ใช้เวลาเร็วสุดประมาณ 8 ชั่วโมง ทั้งนี้อาจใช้เวลานานกว่านี้ขึ้นอยู่กับประเภทของรถไฟ    


การเดินทางไปสะพานรัษฎาภิเศก

             สะพานรัษฎาภิเศก ตั้งอยู่ที่ถนนรัษฎา ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง โดยอยู่ห่างจากสถานีขนส่งจังหวัดลำปาง 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 7 นาที


เวลาทำการเปิด – ปิด

             เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง


อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม


สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อไปเที่ยวสะพานรัษฎาภิเศก

             ชมสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบที่มีความหมายสำคัญต่างๆ ของสะพานสีขาวเก่าแก่ประจำเมืองลำปาง และหากมาเที่ยวตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์ไม่ควรพลาดที่จะเดินเที่ยวถนนคนเดินที่ตลาดกองต้าซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน


กาดกองต้าที่อยู่ใกล้ๆ กัน


เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             สามารถเที่ยวได้ตลอดปี


             
นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม สะพานรัษฎาภิเศก สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                         สะพานรัษฎาภิเศก (สะพานขาว) จังหวัดลำปาง ประเทศไทย

                         (Ratsadaphisek Bridge, Lampang Province, Thailand)

                         ระดับความนิยม :

                         อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                         เวลาทำการเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง

                         ตั้งอยู่ที่ : ถนนรัษฎา ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

                         โทรศัพท์ : -

                         เว็บไซต์ : -

                         ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                       ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง https://lampang.mots.go.th

                                       ศูนย์ข้อมูลการเดินทางจังหวัดลำปาง http://www.lampang.go.th/travel/goto.htm

                                       ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ