วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ประเทศไทย

  • อ่าน (4,182)
  • ByWebmaster Webmaster
  • 18:02:48 | 9 มี.ค. 2566

วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ประเทศไทย

Wat Chaiyo Worawihan, Ang Thong, Thailand

Wat Chaiyo Worawihan

             วัดไชโยวรวิหาร  (Wat Chaiyo Worawihan) วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้“พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ หลวงพ่อโต และวัดไชโยวรวิหารกลายเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาสืบมาจนปัจจุบัน

Wat Chaiyo Worawihan
 

ประวัติ

             วัดไชโยวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่มีนามว่า “วัดไชโย” ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โดยใช้เวลาสร้างนานเกือบ 3 ปีจึงแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากนั้นสมเด็จพุฒาจารย์ได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเกษไชโย

             ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้าง พระวิหารจึงพังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนองค์เดิม โดยพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” หรือที่เรียกว่า หลวงพ่อโต และในการนี้พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยเป็นพระอารามหลวง รวมถึงมีการก่อสร้างพระวิหาร พระอุโบสถ ศาลาราย กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ รวมเวลาการปฏิสังขรณ์นานถึง 8 ปี โดยพระวิหารของวัดไชโยวรวิหารนั้นถือเป็นพระวิหารที่มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำเป็นรูปเสี้ยวกวาง ส่วนอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาทางด้านหน้า ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงามและยังอยู่ในสภาพดี ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5

             “พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ หลวงพ่อโต มีขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองอย่างสวยงาม เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีพุทธลักษณะที่โดดเด่น โดยพระพักตร์และพระกรรณนั้นมีลักษณะเหมือนคนธรรมดา มีริ้วรอยย่นของ สบง จีวร ชัดเจน  เป็นฝีพระหัตถ์การรังสรรค์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ หลวงพ่อโตนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มาก กล่าวกันว่า ผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากจะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ โดยเมื่อเข้าใกล้องค์พระ จะมองเห็นหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับนั่นเอง 

นอกจากวัดไชโยวรวิหารจะเป็นวัดสำคัญของอำเภอไชโยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดีก็คือ “พระสมเด็จเกษไชโย” พระเครื่องที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณนานัปการนั่นเอง

Wat Chaiyo Worawihan
บรรยากาศรอบๆ วัดไชโยวรวิหาร

Wat Chaiyo Worawihan
วัดไชโยวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่มีนามว่า “วัดไชโย

Wat Chaiyo Worawihan
รูปหล่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

Wat Chaiyo Worawihan
“พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ หลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว

Wat Chaiyo Worawihan
พระพุทธรูปองค์รอง

Wat Chaiyo Worawihan
ประตูพระอุโบสถลงรักปิดทองลวดลายงดงาม
 

การเดินทางไปจากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดอ่างทอง

             - รถยนต์ จากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดอ่างทอง ระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง คือ

             เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน - พระนครศรีอยุธยา - อำเภอบางปะหัน - อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร

             เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี - ปทุมธานี - พระนครศรีอยุธยา - สุพรรณบุรี - อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร

             เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ - ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร - อำเภอเสนา - พระนครศรีอยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 3263 และต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก - อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร หรือใช้ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1543

             - รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ - อ่างทอง ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศทุกวัน สามารถขึ้นรถได้ที่ขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ไปยังสถานีขนส่ง จังหวัดอ่างทอง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1490 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://home.transport.co.th/index.php/th/

การเดินทางไปวัดไชโยวรวิหาร

             จากสถานีขนส่งจังหวัดอ่างทอง ไปยังวัดไชโยวรวิหาร  มีระยะทาง  16 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 17 นาที โดยจากอ่างทองใช้ทางหลวงหมายเลข 309 (อ่างทอง-สิงห์บุรี) แล้วเลี้ยวขวาบริเวณสถานีตำรวจภูธรตำบลไชโย อีกประมาณ 300 เมตรถึงวัดไชโยวรวิหาร

เวลาทำการเปิด – ปิด

             เปิดทุกวัน เวลา 7.00 - 17.00 น.

อัตราค่าเข้าชม

             ไม่เสียค่าเข้าชม

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว

             ตลอดทั้งปี

Wat Chaiyo Worawihan
 

             นักท่องเที่ยวที่สนใจไปเที่ยวชม วัดไชโยวรวิหาร สามารถศึกษา ข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่

                       วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง ประเทศไทย

                       (Wat Chaiyo Worawihan,  Ang Thong, Thailand)

                       ระดับความนิยม :

                       อัตราค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

                       เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 7.00 - 17.00 น.

                       ตั้งอยู่ที่ : ทางหลวงหมายเลข 309 ตำบลไชโย อำเภอไชโย  จังหวัดอ่างทอง

                       โทรศัพท์ : (+66) 081 295 4433

                       เว็บไซต์ : -

                       ข้อมูลอื่นๆที่ควรรู้ : พยากรณ์อากาศ https://www.accuweather.com

                                                  ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวจังหวัดอ่างทอง http://www.angthong.go.th/atg-tour/travel.html

                                                  ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยวประเทศไทย https://thai.tourismthailand.org

                                                  เว็บไซต์บริการรถโดยสารสาธารณะ http://home.transport.co.th/index.php/th/

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ