- หน้าแรก
- ท่องเที่ยวในประเทศ
- 5 สถานที่สักการะ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" รอบกรุง วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราช
5 สถานที่สักการะ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" รอบกรุง วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราช
- อ่าน (2,640)
- ByWebmaster
- 17:28:49 | 27 ธ.ค. 2565
5 สถานที่สักการะ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" รอบกรุง
วีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราช
เนื่องในวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์แรก และพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี ผู้ทรงกอบกู้เอกราชบ้านเมืองให้กลับคืนมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2310 วันนี้ Palanla ได้รวบรวม 5 สถานที่สักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มาให้ทุกท่านได้ไปกราบสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านกันค่ะ
แผนที่ตั้ง 5 สถานที่สักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รอบกรุงเทพมหานคร
พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม (ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม (Wangderm Palace) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2310 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จ พระราชวังแห่งนี้ จุดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคง สามารถมองสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล และอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือในสมัยนั้น อีกทั้ง พระราชวังแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย ในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4
ภายในบริเวณพระราชวังเดิม ยังมีโบราณสถานที่สำคัญมากมาย ได้แก่ ท้องพระโรง พระที่นั่งขวางพระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็ก อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ และศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหมู่อาคารอื่นๆ ได้แก่ ศาลศีรษะปลาวาฬ เรือนเขียว และป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่เคยใช้เป็นด่านเก็บภาษีปากเรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย
กฎระเบียบ การเข้าชมพระราชวังเดิม คือ ควรสวมเสื้อมีแขน กางเกงขายาว หรือกระโปรงคลุมเข่า ห้ามใส่รองเท้าแตะ และไม่อนุญาตให้บันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป/กล้องวีดีโอ/โทรศัพท์มือถือภายในอาคารทุกอาคารเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางมูลนิธิฯเท่านั้น
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง พระราชวังเดิม มีระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที
เวลาทำการเปิด-ปิด : วันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 11.30 น. และ 13.00 - 16.00 น.
ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
พิกัด GPS : 13°44'34.1"N 100°29'23.0"E
วัดอรุณราชวราราม(ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
วัดอรุณราชวราราม (Wat Arun Ratchawararam) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางกอกใหญ่ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทีชื่อว่า “วัดมะกอก” และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแจ้ง” เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงธนบุรี โดยเสด็จกรีฑาทัพมาทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ทรงอธิษฐานว่าหากรุ่งแจ้งที่ใดก็จะขึ้นมาที่นั่น ซึ่งได้เสด็จมาถึงหน้าวัดแห่งนี้ จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง” จากหลักฐานภาพแกะสลักไม้จากกรมศิลปากร บอกเล่าเรื่องราวไว้ว่าครั้งหนึ่ง “โบสถ์น้อย” เคยเป็นสถานที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ของ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ซึ่งในปัจจุบันตั้งอยู่หน้าพระปรางค์วัดอรุณ ถือได้ว่าเป็นโบสถ์เก่าหลังแรกของวัดเมื่อครั้งอดีตค่ะ
ภายในโบสถ์น้อยประดิษฐานประธานขนาดใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นามว่า หลวงพ่อรุ่งมงคล และยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “ศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์” ที่สร้างมาเป็นร้อยกว่าปี และยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน 2 องค์ ให้ผู้ที่มาเยือนได้กราบไหว้ขอพรอีกด้วย
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง วัดอรุณราชวราราม มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 นาที
เวลาทำการเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่มีค่าเข้าชม
พิกัด GPS : 13°44'38.2"N 100°29'21.8"E
วัดหงส์รัตนาราม (ที่ตั้ง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งแรกในประเทศไทย)
วัดหงส์รัตนาราม (Wat Hongratanaram) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตบางกอกใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่ตามตำนานเล่าว่า ศาลพระเจ้าตากที่วัดหงส์รัตนารามแห่งนี้ เป็น ศาลพระเจ้าตากแห่งแรกในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากเหตุการณ์ในอดีตได้กล่าวไว้ว่า “หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกประหารชีวิต ณ บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพผ่านวัดหงส์รัตนาราม มีหลวงจีนเดินนำขบวนพระบรมศพผ่านวัดหงส์ อีกคนหนึ่งถือพานรองพระโลหิต และหลวงจีนหนึ่งในขบวนที่ถือพานรองพระโลหิต ได้หันไปเห็นพระเจ้าตากไร้พระเศียรยืนอยู่ที่พระอุโบสถของวัด หลวงจีนผู้นั้นก็ตกใจจนทำพานรองพระโลหิตในมือหล่น และได้นำดินที่มีพระโลหิตของพระเจ้าตากมาปั้นเป็นรูปพระองค์ แล้วตั้งศาลพระเจ้าตากไว้ภายในศาลไม้ที่ตำแหน่งนั้น โดยตำแหน่งที่ว่านั้น ก็คือบริเวณต้นโพธิ์ที่อยู่ใกล้กับศาลปัจจุบันนั่นเอง
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง วัดหงส์รัตนาราม มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 นาที
เวลาทำการเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่มีค่าเข้าชม
พิกัด GPS : 13°44'22.6"N 100°29'17.2"E
วัดอินทารามวรวิหาร (ที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
วัดอินทารามวรวิหาร (Wat Intharam Worawiharn)ตั้งอยู่ที่เขตธนบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาคู่กับเมืองธนบุรีครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พร้อมกับปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ และเคยเสด็จประพาส ทรงประสบว่าเป็นวัดที่มีความสงบวิเวก เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม จึงได้มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุง ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งศาสนวัตถุ และศาสนสถานครั้งใหญ่ แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ในคราวที่ว่างเว้นจากงานราชกิจ พระองค์ทรงอุทิศเวลาเสด็จมาประทับแรมทรงศีล และปฏิบัติพระกรรมฐาน ณ วัดอินทารามหลายวาระด้วยกัน โดยมีพระแท่นบรรทม เป็นอนุสรณ์หลักฐานยืนยัน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วิหารเล็ก) ภายในวัดอินทาราม
ประการสำคัญที่สุดคือ เป็นสถานที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมด้วย พระอัครมเหสีของพระองค์ท่าน ถึงแม้ ในเวลาต่อมา ได้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพไปแล้ว พระบรมอัฐิของทั้ง 2 พระองค์ก็ได้บรรจุไว้ในเจดีย์กู้ชาติ ส่วนพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำไปบรรจุไว้ในพระพุทธรูปประจำรัชสมัยของพระองค์ท่าน คือ พระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ ภายในวัดอินทารามเช่นเดียวกัน
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง วัดอินทารามวรวิหาร มีระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 31 นาที
เวลาทำการเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม : ไม่มีค่าเข้าชม
พิกัด GPS : 13°43'23.7"N 100°29'00.5"E
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่)
พระบรมราชานุสาวรีย์ (Taksin Maharat Monument) แห่งนี้ประดิษฐานอย่างโดดเด่น อยู่บริเวณวงเวียนใหญ่ ถนนประชาธิปก เขตธนบุรี สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานในลักษณะทรงม้า พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ความสูงจากเท้าม้าถึงยอดพระมาลา 9 เมตร ฐานอนุสาวรีย์เป็นแท่นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 8.90 เมตร กว้าง 1.80 เมตร ยาว 3.90 เมตร สองด้านของแท่นฐานมีรูปปั้นนูนด้านละ 2 กรอบรูป ถ่ายทอดภาพประวัติศาสตร์ 4 กรอบ คือ รูปประชาชนทุกวัยแสดงอาการโศกเศร้าหมดความหวังเมื่อกรุงแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนรวมกำลังกันต่อสู้กู้อิสรภาพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต่อสู้ข้าศึก รูปประชาชนพลเมืองมีความสุขที่กอบกู้อิสรภาพได้สำเร็จ
อนุสาวรีย์แห่งนี้ เปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี กำหนดให้มีพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณ สักการะพระบรมรูป เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 29 นาที
เวลาทำการเปิด-ปิด : ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม : ไม่มีค่าเข้าชม
พิกัด GPS : 13°43'34.3"N 100°29'35.1"E
สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ
10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
พิจิตร จังหวัดเล็กๆ ที่ซ่อนเสน่ห์เอาไว้มากมาย และไม่ได้มีแค่บึงสีไฟเพียงอย่างเดียว เพราะเมืองชาละวันแห่งนี้มีทั้งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ วัดวาอารามเก่าแก่ และวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นที่น่าสนใจ บทความนี้ Palanla จะพาไปเปิดมุมมองใหม่กับ 10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนพิจิตร
อ่านต่อวัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
วัดหิรัญญาราม (Wat Hiranyaram) หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ วัดบางคลาน (Wat Bang Khlan) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รู้จักจาก หลวงพ่อเงิน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีผู้คนให้ความเคารพนับถืออย่างมาก
อ่านต่ออุทยานเมืองเก่าพิจิตร จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
อุทยานเมืองเก่าพิจิตร (Pichit Historical Park) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด เชื่อกันว่าเดิมทีบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองพิจิตรเก่า
อ่านต่อวัดนครชุม จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
วัดนครชุม (Wat Nakhon Chum) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยเคยเป็นวัดสำคัญของเมืองพิจิตรในอดีต
อ่านต่อวัดเขารูปช้าง จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
วัดเขารูปช้าง (Wat Khao Rup Chang) อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตรที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา บนยอดเขาที่มีหินสีขาวซ้อนกันเป็นรูปช้างคุกเข่าโดดเด่นด้วยเจดีย์แบบลังกา ประดับกระเบื้องเคลือบสีทองทั้งองค์
อ่านต่อทุ่งดอกกระเจียวยักษ์บ้านเขาโล้น จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
ทุ่งดอกกระเจียวยักษ์บ้านเขาโล้น (Giant Siam Tulip Field Baan Khao Loan) ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เมื่อดอกกระเจียวสีชมพูบานสะพรั่งทั่วทั้งทุ่ง
อ่านต่อตลาดย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย
ตลาดย่านเก่าวังกรด ( Yan Kao Wang Krot Market) ตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ณ ย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยที่เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้เก่าแก่สวยงาม พร้อมทั้งหอนาฬิกาที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของชุมชน
อ่านต่อน้ำตกไทรโยคใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย
น้ำตกไทรโยคใหญ่ (Sai Yok Yai Waterfall) เปรียบเสมือนอัญมณีแห่งเมืองกาญจนบุรี ด้วยความงามของม่านน้ำอันยิ่งใหญ่ที่ไหลรินลงมาจากหน้าผาสูงและกลายเป็นสายน้ำที่ทอดยาว รายล้อมไปด้วยป่าไม้ร่มรื่น ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี
อ่านต่อต้นจามจุรียักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย
ต้นจามจุรียักษ์ (Giant Monkey Pod Tree) อายุกว่า 100 ปี ที่ยืนตระหง่าน แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ คืออีกหนึ่งแลนด์มาร์กของเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน
อ่านต่อคู่มือการดำเนินการตามกระบวนการเคลมประกันรถยนต์ฉบับสมบูรณ์
การมีส่วนร่วมในอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือประสบความเสียหายต่อยานพาหนะของคุณอาจเป็นประสบการณ์ที่ตึงเครียดและท่วมท้น อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจขั้นตอนการเคลมประกันรถยนต์สามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและแก้ไขปัญหาได้ราบรื่นยิ่งขึ้น
อ่านต่อ