พระบรมราชานุสาวรีย์ ๔ ยุคสมัย ช่วงประวัติศาสตร์แห่งภาษา เอกราช และความศิวิไลซ์

  • อ่าน (1,467)
  • ByWebmaster
  • 09:47:39 | 19 ส.ค. 2565

พระบรมราชานุสาวรีย์ ๔ ยุคสมัย

ช่วงประวัติศาสตร์แห่งภาษา เอกราช และความศิวิไลซ์

 

             ชาติไทยของเรานั้นกว่าจะมาเป็นชาติและแผ่นดินที่เป็นปึกแผ่นอย่างทุกวันนี้นั้นผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย โดยเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคสมัยต่างๆ วันนี้ทาง Palanla จึงขอนำทุกท่านรำลึกถึงประวัติศาตร์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของแต่ละยุคสมัยผ่านทางการท่องเที่ยวพระบรมราชานุสาวรีย์สี่แห่งที่เป็นตัวแทนจากยุคต่างๆ โดยเริ่มจากยุคกรุงสุโขทัย ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย, ยุคกรุงศรีอยุธยา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ยุคกรุงธนบุรี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงเทพฯ ฝั่งธน และยุครัตนโกสินทร์ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร

 
แผนที่ พระบรมราชานุสาวรีย์ที่เป็นตัวแทนของสี่ยุคสมัย เรียงลำดับจากสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์


1. พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย

 

             พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (King Ramkhamhaeng Monument) ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีลักษณะเป็นพระบรมรูปที่หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าขององค์จริง มีความสูง 3 เมตร อยู่ในอิริยาบทประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ ลักษณะพระพักตร์ใช้ศิลปะเดียวกันกับพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น บริเวณใกล้กับแท่นฐานเยื้องไปทางด้านหลังประดับด้วยภาพแผ่นจำหลักนูนฝั่งละสองภาพ รวมสี่ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระกรณียกิจของพระองค์และเหตุการณ์บ้านเมืองในสมัยสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วง ขึ้นครองราชย์ประมาณปี พ.ศ. 1822 ถึง พ.ศ. 1842 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับการยกย่องด้วยการต่อท้ายพระนามด้วยคำว่า "มหาราช" เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน โดยพระราชกรณียกิจที่เป็นที่รู้จักไปทั่วคือการประดิษฐ์ตัวอักษรไทย การจารึกเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้นลงบนศิลาจารึก การให้ประชาชนค้าขายได้อย่างเสรี การเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนและล้านนา และการรวบรวมอาณาจักรต่างๆ ในสมัยนั้นให้เป็นหนึ่งเดียว ทางกรมศิลปากรจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งนี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ไปยัง พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีระยะทางประมาณ 442 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5-6 ชั่วโมง

เวลาทำการเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน 06:30 น. – 19:30 น.

พิกัด GPS : 17°01'11.8"N 99°42'16.9"E

อ่านรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=1038


2. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

             พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (The King Naresuan The Great Monument) ตั้งอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าอีกแห่งหนึ่งของสยามประเทศ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 1,075 ไร่ ภายในบริเวณประกอบด้วยสวนสาธารณะ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และพื้นที่จัดกิจกรรม พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีลักษณะเป็นพระรูปทรงม้าศึกที่จำลองเหตุการณ์ขณะทรงม้าออกรบและสังหาร “ลักไวทำมู” ทหารเอกของพระเจ้าหงสาวดี พระบรมรูปประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานที่ตั้งอยู่บนลานหินสีขาว พร้อมเครื่องราชูปโภคสี่อย่าง ได้แก่ พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงแสนพลพ่าย และพระมาลาเบี่ยง ภายในบริเวณมีรูปปั้นไก่หลากหลายขนาดประดับตกแต่งอยู่ เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงโปรดไก่ชน ประชาชนจึงนิยมนำรูปปั้นไก่มาถวายเพื่อแก้บนเมื่อสักการะขอพรได้สมดั่งใจหมาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ "พระองค์ดำ" เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิกษัตรีย์ มีพระเชษฐภคินีคือพระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ ขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ทรงใช้ชีวิตอยู่ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลกในสงครามช้างเผือก และได้เมืองพิษณุโลกกับอยุธยาไปเป็นประเทศราชของพม่า จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระสุพรรณกัลยาและพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา โดยประทับอยู่กรุงหงสาวดี 8 ปี และได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ. 2115 เมื่อพระชนมายุ 17 พรรษา โดยกลับมาดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชไปปกครองเมืองพิษณุโลก ในช่วงนั้นเองที่ทรงเตรียมการกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา และได้แสดงพระปรีชาสามารถในการออกรบอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งสามารถชนะศึกและประกาศอิสรภาพให้กับกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133

             โดยศึกสงครามในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติ จึงได้มีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้ที่บริเวณนี้เพื่อเทิดพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงมหาวีรกรรมในครั้งนั้น

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ ไปยัง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง

เวลาทำการเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน 06:00 น. – 20:00 น.

พิกัด GPS : 14°22'19.5"N 100°32'30.4"E

อ่านรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=255


3. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงเทพฯ

 

             พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (King Taksin the Great  Monument) ประดิษฐานอยู่บริเวณวงเวียนใหญ่ มีลักษณะเป็นพระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ มีความสูงจากเท้าม้าถึงยอดพระมาลา 9 เมตร ฐานอนุสาวรีย์เป็นแท่นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 8.90 เมตร กว้าง 1.80 เมตร ยาว 3.90 เมตร สองด้านของแท่นฐานมีภาพจำหลักนูนที่แสดงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อยู่ด้วยกัน 4 ภาพ ได้แก่ ภาพขณะประชาชนกำลังอยู่ในอาการโศกเศร้าหมดหวังเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ภาพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนรวมกำลังกันต่อสู้กู้อิสรภาพ ภาพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงต่อสู้กับข้าศึก และภาพประชาชนมีความสุขที่กอบกู้อิสรภาพได้สำเร็จ บริเวณด้านหน้ายังมีแผ่นจารึกดวงฤกษ์และข้อความเทิดพระเกียรติอยู่อีกด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า สิน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวของกรุงธนบุรี ก่อนกอบกู้เอกราชพระองค์เป็นนายทหารในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองขึ้น พระองค์ทรงเป็นผู้นำทัพขับไล่ทหารพม่าที่ยึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ในเวลานั้นออกไป และทำการย้ายราชธานีไปยังกรุงธนบุรีแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ หลังสงครามพระองค์ทรงฟื้นฟูราชอาณาจักรให้กลับสู่สภาวะปกติ ให้ประชาชนได้มีความร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งยังส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา และศิลปวัฒนธรรมอีกด้วยพระองค์ทรงเป็นหนึ่งในวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่มีพระปรีชาสามารถ ทางรัฐบาลจึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้สำเร็จจนเป็นที่จดจำมาจนทุกวันนี้ และได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" อีกด้วย

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที

เวลาทำการเปิด-ปิด : เปิดตลอดเวลา

พิกัด GPS : 13°43'34.7"N 100°29'35.1"E

อ่านรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ที่ : https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=228


4. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กรุงเทพฯ

 

             พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (King Rama I Monument) ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพุทธฯ พระบรมรูปได้รับการออกแบบโดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ในอิริยาบทประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ โดยได้ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นและหล่อด้วยทองสำริด มีความสูงตั้งแต่ฐานไปถึงยอด 4.60 เมตร ต่อมาได้มีการเสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ 1 เมตร บริเวณฐานมีความกว้าง 2.30 เมตร เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ พานเครื่องประดับ และมีน้ำพุอยู่ทั้ง 2 ข้าง บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนลวดลายไทย บริเวณกึ่งกลางแผ่นหินสลักเป็นตราปฐมบรมราชจักรีวงศ์อย่างงดงาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทางรัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปีเป็นวันจักรี พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากจากกรุงธนบุรีที่เป็นราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือที่เรียกว่าฝั่งพระนครในปัจจุบัน จากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเป็นผู้พระราชนามเต็มของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา และมีการตรากฎหมายตราสามดวงขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นผู้บัญชาการรบในสงครามเก้าทัพอีกด้วย ด้วยพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจต่างๆ ของพระองค์ จึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นเมื่อตอนจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีระยะทางประมาณ 7.8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที

เวลาทำการเปิด-ปิด : เปิดตลอดเวลา

พิกัด GPS : 13°44'26.3"N 100°29'52.9"E

อ่านรายละเอียดเพื่มเติมเกี่ยวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ที่https://www.palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=225 

 

สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ

10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

พิจิตร จังหวัดเล็กๆ ที่ซ่อนเสน่ห์เอาไว้มากมาย และไม่ได้มีแค่บึงสีไฟเพียงอย่างเดียว เพราะเมืองชาละวันแห่งนี้มีทั้งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ วัดวาอารามเก่าแก่ และวิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่นที่น่าสนใจ บทความนี้ Palanla จะพาไปเปิดมุมมองใหม่กับ 10 สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนพิจิตร

อ่านต่อ

วัดหิรัญญาราม (วัดบางคลาน) จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

วัดหิรัญญาราม (Wat Hiranyaram) หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ วัดบางคลาน (Wat Bang Khlan) เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รู้จักจาก หลวงพ่อเงิน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีผู้คนให้ความเคารพนับถืออย่างมาก

อ่านต่อ

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

อุทยานเมืองเก่าพิจิตร (Pichit Historical Park) เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด เชื่อกันว่าเดิมทีบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองพิจิตรเก่า

อ่านต่อ

วัดนครชุม จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

วัดนครชุม (Wat Nakhon Chum) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยเคยเป็นวัดสำคัญของเมืองพิจิตรในอดีต

อ่านต่อ

วัดเขารูปช้าง จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

วัดเขารูปช้าง (Wat Khao Rup Chang) อีกหนึ่งวัดเก่าแก่ของจังหวัดพิจิตรที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา บนยอดเขาที่มีหินสีขาวซ้อนกันเป็นรูปช้างคุกเข่าโดดเด่นด้วยเจดีย์แบบลังกา ประดับกระเบื้องเคลือบสีทองทั้งองค์

อ่านต่อ

ทุ่งดอกกระเจียวยักษ์บ้านเขาโล้น จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

ทุ่งดอกกระเจียวยักษ์บ้านเขาโล้น (Giant Siam Tulip Field Baan Khao Loan) ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เมื่อดอกกระเจียวสีชมพูบานสะพรั่งทั่วทั้งทุ่ง

อ่านต่อ

ตลาดย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร ประเทศไทย

ตลาดย่านเก่าวังกรด ( Yan Kao Wang Krot Market) ตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ณ ย่านเก่าวังกรด จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งรวมอาหารอร่อยที่เรียงรายด้วยสถาปัตยกรรมอาคารไม้เก่าแก่สวยงาม พร้อมทั้งหอนาฬิกาที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของชุมชน

อ่านต่อ

น้ำตกไทรโยคใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย

น้ำตกไทรโยคใหญ่ (Sai Yok Yai Waterfall) เปรียบเสมือนอัญมณีแห่งเมืองกาญจนบุรี ด้วยความงามของม่านน้ำอันยิ่งใหญ่ที่ไหลรินลงมาจากหน้าผาสูงและกลายเป็นสายน้ำที่ทอดยาว รายล้อมไปด้วยป่าไม้ร่มรื่น ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี

อ่านต่อ

ต้นจามจุรียักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย

ต้นจามจุรียักษ์ (Giant Monkey Pod Tree) อายุกว่า 100 ปี ที่ยืนตระหง่าน แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ผู้คนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ คืออีกหนึ่งแลนด์มาร์กของเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน

อ่านต่อ

คู่มือการดำเนินการตามกระบวนการเคลมประกันรถยนต์ฉบับสมบูรณ์

การมีส่วนร่วมในอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือประสบความเสียหายต่อยานพาหนะของคุณอาจเป็นประสบการณ์ที่ตึงเครียดและท่วมท้น อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจขั้นตอนการเคลมประกันรถยนต์สามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและแก้ไขปัญหาได้ราบรื่นยิ่งขึ้น

อ่านต่อ
สถานที่อื่นๆที่น่าสนใจ